(เพิ่มเติม) สศค.คาด GDPไตรมาส 4/54 ติดลบ 5% กดทั้งปีโตเหลือ 1.1%,ปี 55 ขยายตัว 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2011 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/54 จะขยายตัวติดลบราว 5% เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่มีความรุนแรงมาก ทำให้ทั้งปี 54 เศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือ 1.1% แต่ในปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 5%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 54 ขยายตัว 1.1% จากเดิมคาดว่าเติบโต 1.7% เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้ทั้งภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดภาวะชะงักงัน รวมถึงภาคเกษตร

ในไตรมาส 4/54 เดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 2-3% แต่ล่าสุดได้มีการปรับขึ้นเป็นติดลบ 5% เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกขยายตัวติดลบต่อเนื่องมา 2 เดือนแล้ว

สศค.ระบุปี 54 การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากผลกระทบน้ำท่วมที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามปัญหาการหยุดชะงักของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงน้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ประกอบกับ ความไม่แน่นอนของการขยายตัวเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ในปี 55 สศค.ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5% โดยเศรษฐกิจปีหน้าจะมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น การเร่งฟื้นฟูที่อยู่อาศัย และเครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งนโยบายภาครัฐ สนับสนุนการใช้จ่าย

"ปีหน้าจะต้องนำมาตรการต่างๆไปปฏิบัติ ซึ่งเม็ดเงินไม่ใช่ปัญหาแต่ขึ้นอยู่กับการนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ และจะต้องโปร่งใส ซึ่ง สศค.จะมีการติดตามการใช้เงินให้เกิดความสำเร็จ ไม่ให้ล่าช้า" นายสมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 55 สศค.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเหลือ 2.9% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 3% เนื่องจากเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังอยู่สภาพอ่อนแอ มีปัญหาหนี้สาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา ขณะที่ประเมินว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงจากปี 54 เล็กน้อย มาที่ 30.80 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากยังมีเงินทุนเคลื่อนย้ายและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ส่วนดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 คาดว่าอยู่ในช่วง 2.75-3.75% จากที่ปี 54 อยู่ที่ 3.25% คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ครึ่งปีหลังอาจมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ