นักวิชาการ แนะรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่น-สร้างภูมิคุ้มกันปัญหาหนี้สาธารณะ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 16, 2012 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวในงานเสวนา "ภาวะผู้นำ...ฝ่าวิกฤติประเทศไทย" ว่า วันนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากภาพรวมและตัวเลขเศรษฐกิจของไทยโดยส่วนใหญ่ยังดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ, ตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ต่ำ ขณะที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจสถาบันการเงินมีประสบการณ์จากเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่เข้มงวดต่อการควบคุมการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน

ขณะที่รัฐบาลคาดหวังจะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ 4.5% และขยายการส่งออกให้โต 19% ซึ่งจะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นกับว่านักลงทุนทั้งในและนอกประเทศจะมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าวิกฤติจะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาวิกฤติอุทกภัย หากเกิดขึ้นอีก เชื่อว่าคงจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

"วันนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าอีก 6 เดือนหน้าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องแยกการบริหารจัดการปัญหาน้ำ ระหว่างการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าออกจากการวางแผนแก้ไขในระยะยาว แต่วันนี้ดูเหมือนทุกอย่างจะสับสนปนเปกันไปหมด จนทำให้หลายคนไม่เชื่อมั่นประเทศไทย" นายสมชาย กล่าว

พร้อมระบุว่า ประเทศไทยโชคดีที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลก เพราะหากประเทศนี้เกิดวิกฤติขึ้นก็จะไม่ทำให้ประชาชนอดอยากเหมือนในหลายประเทศ แต่หากรัฐบาลขาดการวางแผนและบริหารจัดการที่ดี ไม่นำบทเรียนจากวิกฤติใน 2 ครั้งก่อนมาบทเรียนเพื่อวางแผนป้องกันและแก้ไขแล้วอาจจะเกิดวิกฤติขึ้นในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาจากนโยบายประชานิยมนั้น ในช่วงแรกรากหญ้าจะได้รับประโยชน์ แต่ในระยะยาวควรระวังเรื่องหนี้สาธารณะ ดังนั้นไทยเราควรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความสามรถทางด้านการผลิต เพิ่มคุณภาพการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยขั้นแรกต้องสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันที่รุนแรง

ที่ผ่านมาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในอดีตมีเพียง 2 ครั้งที่อยู่ในระดับที่รุนแรง โดยดูจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำมากในปี 40 ซึ่งวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท เป็นเหตุให้เศรษฐกิจในปี 41 หดตัวถึง 10% โดยมีสาเหตุมาจากการปล่อยให้เงินต่างประเทศไหลเข้ามามาก นั่นก็คือมีการกู้เงินจากต่างประเทศมากเกินไป แล้วเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาต่างประเทศดึงเงินกลับ ก็เป็นสาเหตุให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบหมด ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยล้มละลายเป็นจำนวนมาก

ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 52 เกิดจากวิกฤติซับไพร์มในยุโรปเศรษฐกิจหดตัว การขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ แล้วมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง สรุปโดยรวมแล้ววิกฤติเศรษฐกิจของไทยเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นไทยเราควรเตรียมการรองรับวิกฤติอันสืบเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ