In Focusแมงเม่าบินเข้ากอง"ทอง"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 22, 2012 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทองเป็นโลหะมีค่าที่โดดเด่น และเป็นที่ต้องการเหนือโลหะมีค่าทุกชนิดในโลก ด้วยความคงทน เป็นอมตะ ไม่ขึ้นสนิม ไม่ผุกร่อน แม้เวลาจะผ่านเลยไป 3,000 ปี และเนื่องจากเป็นโลหะมีค่าหายาก กว่าจะได้ทอง 1 ออนซ์ (31.167 กรัม) ต้องถลุงแร่หลายตัน ขุดเจาะลึกลงไปหลายสิบเมตร ต้นทุนในการผลิตจึงสูงตามไปด้วย คุณสมบัติที่โดดเด่นของทองจึงเพียงพอที่จะหลอกล่อให้เหล่าแมงเม่าเข้ามาติดกับได้โดยง่าย และที่สำคัญผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในทองคำก็ช่างหอมหวานไม่แพ้สินทรัพย์อื่นๆเลย

*ซื้อทองเก็งกำไรดีไหม

ในยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่มีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสที่จะเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นมาได้ง่ายๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจะหันมาเล่นทอง ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย อีกทั้งยังได้รับการกล่าวขานว่าจะเก็บรักษาความมั่งคั่งไว้ได้เป็นอย่างดี ทองยังคงทนแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากๆนั้น ทองจะเจิดจรัสขึ้นมาในทันที ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ลดลง

เมื่อพิจารณาเทียบกับมูลค่าของสกุลเงินแล้ว ในยุคนี้มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรืออัดฉีดเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินท่วมระบบ และทำให้เกิดเงินเฟ้อตามมา จากการที่มีปริมาณเงินมาก แต่ผลผลิตไม่ได้เติบโตเร็วเท่า ในภาวะนั้น เป็นธรรมดาที่มูลค่าของเงินจะลดลง การถือสกุลเงินไว้เป็นจำนวนมาก จึงไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษที่ด้อยค่าลง ในขณะที่ทองยังคงมีมูลค่าดังเดิม หรือแม้ว่ามีมูลค่าเพิ่มมากกว่าเดิม เมื่อเทียบกับปี 2000 ที่ทองในไทยราคาเพียงบาทละ 5,500 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาทองในประเทศพุ่งขึ้นกว่า 4 เท่า นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทองเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ

เมื่อเทียบกับหุ้น หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีการขึ้นลงเร็ว ในภาวะปัจจุบันที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอน หากโชคดี ผลตอบแทนที่ได้อาจจะพุ่งปรี๊ด แต่หากโชคร้ายก็คงต้องทำใจยอมรับความเสี่ยงไว้ด้วย เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิด หากพลาดไปนิดเดียว ก็อาจจะหมายถึงโอกาสที่เสียไปหรือความผิดหวังครั้งใหญ่ นั่นเคยทำให้บางคนถอดใจ ล้างมือในอ่างทองคำมาแล้ว เมื่อมองเทียบกับทองแล้ว ทองดูดีกว่ามากในแง่ของความมั่นคง รวมทั้งทิศทางที่น่าจะจับตาได้ง่ายกว่า ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปลายปีที่แล้ว ราคาทองดิ่งลงมาก แต่ก็ได้พุ่งขึ้นอีกในต้นปีนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ช่วงที่ราคารูดเอา รูดเอานั้น ร้านทองแถวเยาวราชต่างแน่นขนัด เพราะมีแต่คนแห่ซื้อทอง เพียงเพื่อรอจังหวะให้ทองดีดตัว เพียงเท่านี้ ก็ได้กำไรง่ายๆ เห็นๆ งามกว่าดอกเบี้ยจากแบงก์แน่นอน บางคนถึงกับลงทุนนั่งรอตั้งแต่เช้าจรดเย็นที่ร้านทอง เพื่อรอลุ้นให้ราคาขยับขึ้นอีก ขยับขึ้นอีก อีกบาทละ 50 บาทก็ยังดี เพียงแต่มีเงินเย็น และมีเวลาจับตาดูราคาทองสักหน่อย การเล่นทองนี่แหละเป็นสินทรัพย์ที่เล่นไม่ยาก และเรียกกันว่า ชัวร์ๆเลยทีเดียว

บางคนอาจจะมองว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นๆก็น่าสนใจเช่นกัน แต่อย่าลืมนะคะว่า เราเห็นบทเรียนจากวิกฤติการเงินในอดีตที่ผ่านมา สินทรัพย์ที่ท่านเก็บสะสมมามีสิทธิ์ลดมูลค่าลงในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งอาจจะเร็วกว่าค่าเงินที่ลดลงด้วยซ้ำไป บางคนเล็งว่า จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, ที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพราะเป็นรูปธรรม และจับต้องได้แน่นอนกว่า แต่ตอนนี้ตัวแปรใหม่จากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว หรืออุทกภัย ก็สามารถทำให้เกิดความเสียหายแบบชนิดที่ตราตรึงกันไปนานทีเดียว

*วิวัฒนาการกับความต้องการทองที่เปลี่ยนทิศทาง

ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ความต้องการทองส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่ในทศวรรษ 1990-2000 ความต้องการเปลี่ยนขั้วจากโลกตะวันตกมายังตะวันออก ซึ่งรวมถึงอินเดียและจีน โดยอินเดียเป็นผู้ซื้อทองที่สำคัญในช่วงฤดูกาลสมรส เพื่อนำทองไปเป็นสินสมรส เช่นเดียวกับจีนที่ซื้อทองในช่วงก่อนตรุษจีนตามความชื่นชอบตามวัฒนธรรม ขณะที่ความต้องการทองในทศวรรษ 2010 เหมือนกับในช่วงปี 1980 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยความต้องการจะมาจากภาคการลงทุนมากกว่าส่วนอื่นๆ

ข้อมูลจากสภาทองคำโลกระบุว่า ความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนพุ่งขึ้น 33% ใน Q3/54 ที่กว่า 468 ตัน โดยมีการลงทุนในกองทุน ETF สูงมากใน Q3 โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดแตะจุดสูงสุดในเดือนส.ค.-ก.ย.2554 ซึ่งเหตุผลก็มาจากความวิตกกังวลเรื่องเงินเฟ้อ, หนี้สาธารณะยุโรป, ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง และการที่ไม่มีตัวเลือกอื่นใดที่ต้องตาต้องใจมากเท่าทอง

หากมองในภาคอื่นๆ เช่น ความต้องการทองในภาคเครื่องประดับนั้น ใน Q3/54 อุปสงค์ในภาคนี้ลดลง 10% สู่ 465.6 ตัน เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ไม่ดีนัก ขณะที่อัญมณีทองมีราคาเพิ่มขึ้นมาก โดยเพิ่มขึ้น 24% จาก Q3/53 ขณะที่ความต้องการทองในภาคเทคโนโลยีไม่เปลี่ยนแปลงใน Q3/54 โดยอยู่ที่ 120 ตัน เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่ต่อไปในปีนี้

ในภาคการผลิตนั้น ในทศวรรษ 1970-1980 เหมืองทองในแอฟริกาป้อนทองคำให้กับตลาดโลก 60-80% แต่ในทศวรรษ 1990-2010 บทบาทการผลิตกลับพลิกผันมาอยู่ที่เอเชีย โดยจีนมีสัดส่วนการผลิตมากที่สุดที่ 13% รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 10% สหรัฐ 9% รัสเซีย 8% แอฟริกา 8%

นอกจากนี้ สภาทองคำโลกยังเปิดเผยว่า จีนมีแนวโน้มแซงหน้าอินเดียขึ้นเป็นผู้ซื้อทองรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2555 หลังจากที่ในปีที่ผ่านมาความต้องการทองทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

อุปสงค์ทองทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 4,067.1 ตันในปี 2554 จากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,050.7 ตัน โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ของอุปสงค์การลงทุน ซึ่งทำสถิติสูงสุดแตะระดับ 1,640.7 ตัน ด้วยมูลค่า 8.29 หมื่นล้านดอลลาร์

อินเดีย, จีน และยุโรปเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของอุปสงค์การลงทุน ซึ่งประกอบด้วยการซื้อทองแท่งและเหรียญทอง และกองทุน ETF เนื่องจากวิกฤติหนี้ยุโรปที่ยังยืดเยื้อได้เพิ่มความน่าสนใจให้กับทอง

ความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้นในจีน ที่ซึ่งทองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายตามธรรมเนียมปฏิบัติ, ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และความกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อุปสงค์ทองของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

*แรงซื้อจากธนาคารกลางทั่วโลก — ยาชูกำลังตลาดทอง

การเข้าซื้อทองของธนาคารทั่วโลกมีบทบาทสำคัญต่อตลาดทอง การซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่อุปทานมีปริมาณจำกัด โดยการที่ทางการเข้าซื้อทองเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น ส่งผลทางจิตวิทยาต่อตลาดทอง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ทองจะมีราคาขยับขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเกิดขึ้นที่ดันทองให้ดีดตัวไปไกลขึ้นอีก

นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงซื้อทองต่อเนื่องในปี 2555 หลังจากที่ซื้อทองใน 11 เดือนแรกของปี 2554 กว่า 350 ตัน

ประเทศที่มีการถือครองทองมากที่สุด เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรอง ได้แก่

คิดเป็นสัดส่วนของทุนสำรองของประเทศ

1. สหรัฐอเมริกา     8,133 ตัน                                             74%
2. เยอรมนี            3,396.3 ตัน                                          73.7%
3. อิตาลี              2,435.4 ตัน                                           73.4%
4. ฝรั่งเศส            2,435.4 ตัน                                           71.8%
5. จีน                  1,054.1 ตัน                                             1.8%
-ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ทันหุ้น

ส่วนญี่ปุ่นและอินเดียอยู่ในอันดับ 8 และ 10 ตามลำดับ ขณะที่ไทยถือครองทองคำ 557.7 ตัน คิดเป็น 4.6% ของทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซื้อทองคำทั้งสิ้น 52.88 ตันในปี 2554

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบริษัท GFMS ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านโลหะเปิดเผยว่า การซื้อทองสุทธิของธนาคารกลางในปี 2554 เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า สู่ราว 430 ตัน ขณะที่การเทขายยังคงอยู่ที่ระดับต่ำมาก

*ทองกับความผันผวนจากวิกฤติหนี้ยุโรป

เมื่อคราวที่วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปเริ่มเผยโฉมออกมา นักลงทุนต่างเก็งกันว่า ทองจะเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน แต่แล้วสถานการณ์กลับตาลปัตรเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อวิกฤติหนี้ยุโรปพ่นพิษใส่ทองเข้าอย่างจัง วิกฤติหนี้ยุโรปฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมทั้งทอง โดยนักลงทุนเลือกที่จะถือครองเงินสดเอาไว้ เผื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดใดๆ และเลือกถือดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย แต่ให้ผลตอบแทนต่ำ (โดยเฉพาะในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ) ในภาวะนั้น ทองปรับตัวเหมือนเป็นสินทรัพย์เสี่ยง และร่วงลงเรื่อยๆ จนนักวิเคราะห์ถึงกับคาดว่า ปี 2555 จะไม่ใช่ปีทองของทองซะแล้ว เพราะหนทางข้างหน้ามีแต่ขาลง ขณะที่ยังมอบไม่เห็นทางออกของวิกฤติยูโรโซน ยิ่งเงินยูโรตกต่ำลงเท่าไร เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทองก็ยิ่งดูหม่นหมองไปด้วย ในเมื่อทองปรับตัวผกผันกับดอลลาร์อยู่แล้ว ความโดดเด่นของดอลลาร์ ยิ่งทำให้นักลงทุนถอยห่างจากทองมากขึ้น

ทางออกของวิกฤติยูโรโซนก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในเมื่อประเทศยูโรโซนมีการรวมตัวกันทางสกุลเงิน โดยใช้เงินยุโรปสกุลเดียว (เงินยูโร) แต่ภาวะทางการคลังกลับแตกต่างกันดังฟ้ากับเหว ฝ่ายที่แข็งแกร่งอย่างเยอรมนี ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง ขณะที่กลุ่มประเทศที่อ่อนแอ เช่น กรีซ ถือว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวถึงขั้นจ่อปากเหว"ผิดนัดชำระหนี้" ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ระบบการเงินทั่วโลกคงหนีไม่พ้นหายนะที่จะลุกลามต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ นั่นถือว่ายูโรโซน รวมกันแต่สกุลเงิน แต่ภาวะการคลังยังต่างกันสุดโต่ง ผู้นำก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้ประเทศที่มีปัญหาดำเนินการรัดเข็มขัด, คุมยอดขาดดุลงบประมาณ เพื่อให้ภาวะการคลังกลับมาแข็งแกร่งให้สอดคล้องกันในกลุ่ม หรือที่เรียกว่า fiscal convergence ซึ่งเป็นภาวะที่ทุกประเทศจะก้าวไปพร้อมๆกัน ซึ่งจะทำให้เงินยูโรมีเสถียรภาพ

แต่การทำเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่การคลังกรีซเหือดแห้งอย่างหนัก ต้องขอเงินช่วยเหลือมาหนุนการชำระหนี้ แต่พี่เบิ้มอย่างเยอรมนี ก็ยังคงยื่นคำขาดให้กรีซปฏิรูปการคลังตามที่ตกลงไว้ หากหวังเงินช่วยเหลือ ซึ่งการที่เยอรมนีจะลงไปอุ้มกรีซอย่างเต็มตัว ก็คงต้องหวั่นๆว่า จะทำให้ประเทศของตนต้องเดือดร้อนไปด้วย ขนาดสหรัฐก็ยังมีท่าทีว่า ไม่อยากจ่ายเงินสมทบให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อหนุนยุโรป โดยต้องการให้ยุโรปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

สถานการณ์ที่ยุ่งยากเช่นนี้ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสดมากกว่าทอง แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยในช่วงต้นปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐทำท่าจะฟื้นตัวขึ้น แม้จะยังเชื่องช้าก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐทยอยออกมาในเชิงบวก ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งยุโรปก็ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คิด นั่นช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา ทำให้นักลงทุนพร้อมที่จะเสี่ยงมากขึ้น กลุ่มที่รอดูอยู่นอกตลาดก็เริ่มเทใจให้กับทองอีกครั้ง ทำให้ทองมีโอกาสพุ่งขึ้น หรือขยับขึ้นเล็กๆน้อยๆ ไม่ได้ซบเซาอย่างที่คาดไว้เมื่อปลายปี 2554 ซะทีเดียว โดยในเดือนม.ค.ปีนี้ทองทะยานขึ้น 11% หรือ 171 ดอลลาร์/ออนซ์

ในขณะเดียวกัน นักลงทุนก็มีความหวังจากความพยายามของผู้นำยุโรปที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น จะทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆอยู่ในบรรยากาศที่ดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ทองเท่านั้น สังเกตได้จากตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวนิ่งมากขึ้น หลังจากที่พุ่งแรงลงแรงเมื่อปลายปีที่แล้ว

แต่หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่เดือนก.พ. ความหวังที่รอคอยมานานเกี่ยวกับทางออกวิกฤติกรีซก็ยังไม่เป็นผลสักที ความไม่แน่นอนและความยืดเยื้อทำให้นักลงทุนเบื่อหน่าย การเลื่อนการประชุมครั้งแล้ว ครั้งเล่า นับเป็นสถานการณ์ที่ขัดใจตลาด ขณะที่กรีซเองก็ไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่าจะลงมือปฏิรูปการคลังได้แน่อย่างที่ตกลงกันไว้ ความหวังที่เลือนลางลงจึงทำให้ราคาทองแผ่วลงตามไปด้วย เพราะเมื่อนักลงทุนชักไม่แน่ใจในสถานการณ์ก็จะเลือกถือเงินสดเอาไว้ดีกว่า เผื่อว่ากรีซต้องผิดนัดชำระหนี้อย่างไม่เป็นระบบจริงๆ จะได้ไม่ต้องเจ็บหนัก เพราะถ้าถึงเวลานั้น ระบบการเงิน การลงทุนต่างๆ คงรวนไปตามๆกัน การขาดทุนย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยปัญหาหนี้กรีซจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อราคาทอง เช่นเดียวกับการปรับตัวของดอลลาร์ เรียกว่า ผู้จับตามองตลาดต้องลุ้นรับข่าวจากยุโรปกันอย่างใจจดใจจ่อกันเลยทีเดียว และล่าสุดหลังจากที่มีการบรรลุข้อตกลงช่วยเหลือกรีซที่ตลาดรอคอยมานาน เมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) ทองได้ทะยานขึ้น 32.60 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 1,758.50 ดอลลาร์/ออนซ์

*มุมมองราคาทอง

นายสุพัฒน์ จุลาภิพัฒน์ นักลงทุนทองรายหนึ่งกล่าวว่า นอกจากราคาทองจะผันแปรตามปัจจัยในต่างประเทศแล้ว ค่าเงินบาทก็มีผลต่อราคาทองด้วย หากว่าบาทอ่อน ก็จะทำให้ราคาทองแพง เพราะเราต้องซื้อทองจากต่างประเทศ ถ้าบาทอ่อนลง 0.50 บาท ก็จะมีผลให้ราคาทองในประเทศดูแพงขึ้น 100-200 บาทต่อทอง 1 บาท แต่ก็ต้องดูภาพรวมด้วย เพราะบางวันบาทอ่อน แต่ราคาทองลง นั่นอาจเป็นเพราะราคาในต่างประเทศลงมาก

เขากล่าวว่า หากจะลงทุนในทอง ช่วงนี้ก็สะสมได้ แนวโน้มราคาทองน่าจะขึ้นถึง 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ก็ต้องดูเงินยุโรปด้วย ในช่วงที่ผ่านมาราคาทองเคลื่อนตัวในช่วง 40-50 ดอลลาร์หลายสัปดาห์ โดยแนวโน้มยังผันผวนขึ้นลง อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมีคำว่า ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่แฝงอยู่ เช่น ขณะที่ทองดูขยับขึ้นลงไม่มากนักมาหลายวัน โดยโอกาสขาขึ้นที่ปรากฎขึ้นเด่นชัดในช่วงต้นปีนี้เริ่มแผ่วๆลงกลายมาเป็นขยับลงเรื่อยๆ สลับกับขึ้นบ้าง โดยยังไม่แน่นอน

ปัจจัยจากสหรัฐ เช่น ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร หรือยอดผู้ขอรับสวัสดิการในช่วงที่ผ่านมา มีผลกดดันทองเช่นกัน เมื่อตัวเลขจ้างงานดีขึ้นและผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลง ขณะที่ตัวเลขว่างงานแตะระดับต่ำสุดรอบเกือบ 3 ปี ที่ 8.3% ในเดือนม.ค. จาก 8.5% ของเดือนธ.ค. นั่นต่างก็แสดงถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น และทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปมีน้อยลงเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น

แม้กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อัตราว่างงานที่ 8.3% ยังถือว่าเป็นระดับสูง จึงมีมุมมองบวกต่อทองในระยะยาว โดยแนะนำให้เก็งกำไรระยะสั้นจากความผันผวน พร้อมทั้งตั้งจุดขาดทุนความเสี่ยงที่รับได้เพื่อลดความเสียหายของพอร์ตลงทุน

*ปี 2555 ผันผวนสูง-เหวี่ยงตัวสูง

แนวโน้มของทองคาดว่ายังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นในระยะยาว แม้ว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้นก็ตาม โดยปัจจัยบวกมาจากเงินเฟ้อโลก, อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ, ความต้องการลงทุนในทอง, ความต้องการใช้ทองจากภาคอุตสาหกรรม และความต้องการทองของอินเดียและจีน ขณะที่การที่สหรัฐประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไปจนถึงปี 2557 และพร้อมที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อจำเป็น ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนทอง

ส่วนปัจจัยลบได้แก่ การแข็งค่าของดอลลาร์ และกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ปัจจุบันสหรัฐกลัวเงินฝืดมาก จึงพยายามอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทอง

นักวิเคราะห์มองว่า ในปีนี้ทองสามารถเคลื่อนตัวสูงสุดที่ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ต่ำสุดที่ 1,480 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ถ้าสหรัฐประกาศมาตรการ QE3 ออกมา ทองก็อาจจะพุ่งสูงกว่าระดับดังกล่าวได้ ดังนั้น สำหรับการลงทุนระยะยาว นักลงทุนอาจจะทยอยซื้อสะสมในช่วงราคากรอบล่าง แล้วค่อยขายเมื่อราคาเข้าใกล้เป้าหมาย หากจะลงทุนระยะสั้น ก็สามารถทำกำไรจากความผันผวนได้

ช่วงที่สามารถซื้อสะสมได้น่าจะเป็นไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วง low season หรือช่วงที่ราคาซบเซา ส่วนในช่วงปลายปีนั้น จะเป็นช่วง high season ซึ่งปกติราคาจะปรับตัวคึกคัก ก็จะเป็นจังหวะที่เทขายได้ นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีสหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ก็อาจจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งจะเป็นแรงหนุนทอง

ทองคำถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง ในปี 2555 นี้ จะเห็นว่ามีความผันผวนค่อนข้างมาก ดังนั้น โอกาสในการทำกำไรได้ก็มีมาก เช่นเดียวกับโอกาสที่จะขาดทุนหากเข้าลงทุนผิดจังหวะ ท้ายที่สุดนี้ In Focus หวังว่า ทุกๆท่านที่จะเข้าลงทุนในทอง จะโชคดีมีชัย โกยกำไรสุดๆกันถ้วนหน้านะคะ


แท็ก In Focus:  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ