3 รง.น้ำตาลทรายเปิดหีบอ้อยมาครึ่งทางได้ยิลต์น่าพอใจแม้มีปัญหาอ้อยไฟไหม้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 28, 2012 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2554/2555 ว่า หลังโรงงานน้ำตาลทรายบางแห่งเริ่มเปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 จนถึง 26 กุมภาพันธ์ 2555 รวม 104 วัน หรือกว่าครึ่งทางของระยะเวลาหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2554/2555 พบว่า โรงงานน้ำตาลทรายรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว 66.62 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ทั้งสิ้น 68.18 ล้านกระสอบ คิดเป็นอัตราผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 102.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยิลด์สูงสุดที่ 106.58 กิโลกรัมต่อตันอ้อย รองลงมาได้แก่ ภาคกลางได้ยิลด์ 100.99 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ภาคเหนือได้ยิลด์ 98.41 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และภาคตะวันออก ได้ยิลด์ 98.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

“ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยของแต่ละภาค สวนทางกับปริมาณอ้อยไฟไหม้ โดยพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้มากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออก 76.43% ภาคเหนือ 67.96% ภาคกลาง 67.59% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47.02% ซึ่งในภาพรวมของฤดูการผลิตปี 2554/2555 นั้น พบว่า ยังมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่สูงมาก คือประมาณ 40.18 ล้านตันอ้อย หรือเฉลี่ย 60.32% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบ" เลขานุการคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าว

ทั้งนี้ หากเทียบผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะเวลาหีบอ้อยกับฤดูการผลิตของปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการผลิตน้ำตาลทรายต่อกิโลกรัมปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 102.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับ 102.56 กิโลกรัมต่อตันอ้อยของปีก่อน ขณะที่ค่าความหวานเฉลี่ยของผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปีนี้เท่ากับปีก่อน คือ 11.79 ซี.ซี.เอส.

นางวัลยารีย์ กล่าวด้วยว่า จากสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตปี 54/55 ทำให้ค่าความหวานอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยน่าจะสูงกว่านี้ได้อีก ถ้าสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลง ซึ่งสาเหตุที่ชาวไร่อ้อยยังเลือกใช้วิธีการจัดเก็บผลผลิตด้วยการเผาอ้อยเกิดจากปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ทั้งนี้ การนำอ้อยไฟไหม้เข้าหีบจะมีสิ่งปนเปื้อนมากกว่าอ้อยสด ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยต่ำ

นอกจากการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่จะช่วยให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูกและพันธุ์อ้อยด้วย ซึ่งทางฝ่ายไร่ของแต่ละโรงงานก็พยายามจะส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพมีค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส) สูงขึ้น และสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ