ไทย-จีนเร่งกระชับสัมพันธ์ลงนาม 3 ความร่วมมือด้านศก.-การค้า-การลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 18, 2012 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ประกาศเร่งเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามในเอกสารสำคัญทางเศรษฐกิจ 3 ฉบับ ในช่วงการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ได้แก่ แผนพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2555-2559), บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและ State Administration for industry and Commerce โดยพาณิชย์พร้อมต่อยอดดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาจีนได้ปฏิรูปและพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา และด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า 1,400 ล้านคน และเป็นผู้สร้างกระแส Rising Asia ที่จะทำให้ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจย้ายจากประเทศตะวันตกสู่ตะวันออก จีนจึงเป็นที่ดึงดูดใจของนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก รวมทั้งไทย

ขณะเดียวกันไทยและจีนได้พัฒนาความสัมพันธ์ในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยอาจแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับทวิภาคี โดยมูลค่าการค้าสองฝ่ายในปีที่ผ่านมาขยายตัวสูงกว่า 27% มูลค่า 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะขยายการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี ซึ่งจีนเป็นตลาดหลักของสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการ เช่น ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากจีนได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกล และส่วนประกอบเคมีภัณฑ์

สำหรับความสัมพันธ์ไทย-จีนในระดับภูมิภาคนั้น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนจีนเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้กลไกการค้า 2 ฝ่าย ไทย-จีน มีอัตราเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา การทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ส่งผลให้ไทยและจีนได้ลดภาษีเป็นศูนย์แล้วกว่า 90% ของรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 อาเซียนได้กลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีน และเป็นตลาดส่งออกอันดับสามของจีน การค้าในปี 54 มีมูลค่าการค้าสูงถึง 362,326.50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 23% ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขการค้าจะสูงถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับเอกสารที่กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามไป 3 ฉบับ ในช่วงการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีน เนื่องจากเป็นการวางแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันที่เป็นรูปธรรมและอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) ประกอบด้วย

1. แผนพัฒนาระยะ 5 ปี ระหว่างไทย-จีน ถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่องภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างไทยและจีน และจะเป็นการวางแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนในอีก 5 ปีข้างหน้า วัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า เกษตร ภาคการผลิต โลจิสติกส์ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน SMEs ทรัพย์สินทางปัญญา และการเงิน เป็นต้น โดยมีคณะทำงาน (Working Group) และคณะทำงานย่อย (Sub-Working) เป็นกลไกดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เป้าหมาย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์และเป็นรูปธรรมต่อไทย อาทิ การค้าสินค้าเกษตร (โดยเฉพาะอาหาร พืชพลังงาน อุตสาหกรรมยางพารา) รถยนต์พลังงานทางเลือก โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว และการเงิน เป็นต้น

2. MOU ความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร เพื่อตั้งกลไกการหารือแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการค้าสินค้าเกษตรในภาพรวม (บูรณาการหน่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าเกษตรทั้งหมด) และส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน เป้าหมาย แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการค้าสินค้าสินค้าเกษตรให้เป็นรูปธรรม โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ คือยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้ (ทุเรียน/ลำไย/มังคุด)

3. MOU ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับ State Administration for Industry and Commerce เดิมกระทรวงพาณิชย์มี MOU ในระดับหน่วยงานปฏิบัติ ต่อมาสองฝ่ายเห็นพ้องให้มียกระดับให้เป็นความร่วมมือในระดับกระทรวง สารัตถะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเสริมสร้างขีดความสามารถระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของไทยและ SAIC ของจีน ซึ่งครอบคลุมประเด็นการแข่งขันทางการค้า การจดทะเบียนธุรกิจ และทรัพย์สินทางปัญญา เป้าหมาย การประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาคปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ