"ณัฐวุฒิ"ยันร่วมThird Party Certification Programต่อ เพื่อหนุนส่งออกกุ้งไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ H.E. Ms. Judith B. Cefkin อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง มีความพร้อมจะเข้าร่วมโครงการ Third Party Certification Program ต่อไป ภายหลังที่ได้เข้าร่วมโครงการปี 2551 ในระยะที่ 1 ซึ่ง USFDA ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจประเมินระบบการตรวจสอบรับรองสินค้าประมงของไทย และตรวจประเมินเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานของกรมประมง ในระหว่างปี 2552 แล้ว

โดยการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นบุคคลที่สาม (Third Party Certification) ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ตรวจสอบโรงงานและสินค้าแทนเจ้าหน้าที่ USFDA และเพื่อเป็นการศึกษาและเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบที่ปลายทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกาพร้อมให้ความร่วมมือ โดยจะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

พร้อมกันนี้ สหรัฐอเมริกายังได้แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมงไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กในไทย อีกทั้งดำเนินการร่วมมือกับภาครัฐอื่นๆ เช่น กระทรวงแรงงาน ในการขจัดปัญหาแรงงานให้หมดไป

สำหรับประเด็นที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนใจและนำมาหารือในครั้งนี้ คือ การขอให้ไทยลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้า DDGS (distillers dry grains and soluble) สินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาและการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึกของคณะทำงานพิจารณาอัตราภาษีศุลกากรสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์

นอกจากนี้ ยังขอให้ไทยผลักดันกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชและเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ โดยกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการแก้ไข ภายหลังการประชุมคณะกรรมการยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการอนุรักษ์ และด้านการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องรอการเจรจาแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย จึงขอให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ