(เพิ่มเติม) ครม.สั่งสำรวจทุกโรงงานมาบตาพุด หากลุ่มเข้าข่ายเสี่ยงภายใน 5 วันทำการ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 8, 2012 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจโรงงานทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่ามีโรงงานใดเข้าข่ายเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรืออันตรายใดๆ หรือไม่ เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแผนป้องกันความเสี่ยง โดยกำหนดเวลาให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการ หลังจากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุระเบิดไฟไหม้และสารเคมีรั่วไหลกับโรงงาน 2 แห่งในพื้นที่ดังกล่าว

"ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้สั่งการให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 วันทำการ โดยมีผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม และผู้แทนภาคประชาชน ไปสอบทานทุกโรงงานที่อยู่ในนิคมฯมาบตาพุด ได้สั่งการไปแล้วว่ามีโรงงานใดบ้างที่อยู่ในข่ายเสี่ยง และจะต้องปรับปรุงแผนป้องกันความเสี่ยงนั้น" รมว.อุตสาหกรรม ระบุ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม สอบทานแผนความเสี่ยงทั้งหมด โดยเฉพาะสารพิษและสารไวไฟทั้งหมด การเข้าซ่อมบำรุง และให้มีการตรวจคุณภาพให้เข้มข้น และตรวจเช็คทุกไตรมาส รวมทั้งทำแผนป้องกันความเสี่ยงเสมอประกอบในการอนุมัติการต่อใบอนุญาตโรงงาน และโรงงานที่มีข้อบกพร่องซ้ำซากให้ทบทวนมาตรการในการต่อใบอนุญาตใหม่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้มีการบูรณาการศูนย์ข้อมูล โดยให้ประมวลข้อมูลข่าวสารให้สามารถนำไปใช้สั่งการโดยมีผู้รับผิดชอบโดยตรง และต้องชี้แจงให้ภาคประชาชนรับทราบทันทีที่เกิดเหตุ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มจากระดับพื้นที่เกิดเหตุและเชื่อมโยงไปยังระดับจังหวัด พร้อมกันนี้ ยังให้มีการเชื่อมข้อมูลจากศูนย์ EMC Square ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดูแลข้อมูลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) มายังศูนย์ข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นย้ำ ตรวจสอบ ซ้อมแผนฉุกเฉินและแผนป้องกันภัยชุมชน โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และภาคประชาชน โดยให้มีการบูรณาการและเชื่อมโยงแผนกันภายในระดับจังหวัด

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเยียวยาภาคแรงงานที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่าสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีความพร้อมจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานทั้งหมดรวมเป็นเงินกว่า 18.68 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้บาดเจ็บรวม 104 ราย เป็นเงิน 4.5 ล้านบาท, ค่าทำศพ 12 ราย รายละ 30,000 บาท รวมเป็น 3.6 แสนบาท และค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต รวม 12 ราย เป็นเงิน 13.8 ล้านบาท โดยขณะนี้สำนักงานประกันสังคมรอเพียงหลักฐานการเบิกจ่ายจากญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่จะนำมาแสดงต่อทางราชการเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ