กพช.เตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลือลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชน 14 พ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 11, 2012 08:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เวลา 08.00 น.จะมีการพิจารณามติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่เสนอให้เลื่อนการปรับราคาพลังงานทั้งเอ็นจีวี-แอลพีจีภาคขนส่ง และการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของเบนซินออกไป 3 เดือนเพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพที่สูงขึ้นของประชาชน และเมื่อมีมติ กพช.ออกมาก็จะได้เสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 15 พ.ค.55 เพื่อแก้ไขมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 4 ต.ค.54 ที่ให้มีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีรถยนต์ 75 สต./กก. เอ็นจีวี 50 สต./กก.และจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเบนซิน 1 บาท/ลิตร ทุกเดือนตั้งแต่ ม.ค.-ธ.ค.55

นอกจากนี้จะรายงาน กพช.ถึงมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่ให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ออกไป 1 เดือน จากเดิมที่จะเริ่มในเดือน พ.ค.-ส.ค.55 เป็นเริ่มในเดือน มิ.ย.-ส.ค. 55 โดยทั้งหมดก็เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน

สำหรับการเดินทางมาดูงานด้านพลังงานทดแทนที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งทดลองนำพลังงานแสงอาทิตย์มาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ลดต้นทุนการใช้ก๊าซฯได้ร้อยละ 24 และยังลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยคาดหวังว่าหากนำมาใช้เชิงพาณิชย์ในอนาคตก็อาจจะนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยที่ปัจจุบันพึ่งพาก๊าซฯ ถึงร้อยละ 70 ทำให้ลดการใช้ก๊าซฯลงได้และยืดระยะเวลาการใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่คาดว่าจะหมดลงใน 12-13 ปีข้างหน้า

"ประเทศไทยมีแนวโน้มใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ก๊าซในอ่าวไทยจะหมดลง ส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และการนำเข้าก๊าซจากเพื่อนบ้าน ซึ่งในัปจจุบันนำเข้าจากพม่าถึงวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ก๊าซแอลเอ็นจีมีราคาแพงขึ้นราคาประมาณ 13-15 ดอลลาร์/ล้านบีทียู และเป็นที่ต้องการของทั่วโลก ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนให้ ปตท.หาแหล่งแอลเอ็นจีที่หลากหลายเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย โดยพร้อมช่วยสนับสนุนด้านการเจรจากับประเทศต่างๆ" นายอารักษ์ กล่าว

ล่าสุดตนเองได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อหาลู่ทางนำเชลก๊าซหรือก๊าซจากหินดินดาน ซึ่งขณะนี้สหรัฐมีการผลิตเป็นจำนวนมาก จนทำให้ราคาก๊าซของสหรัฐลดลงเหลือประมาณ 2-3 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ไทยไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะข้อกำหนดของสหรัฐคือ จะขายเชลก๊าซเฉพาะประเทศทีมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอด้วยกันเท่านั้น ดังนั้นหากใครสามารถติดต่อสหรัฐเพื่อนำเข้าเชลก๊าซและนำมาถึงไทยในราคาถูกทางกระทรวงพลังงานก็พร้อมให้การสนับสนุน

ส่วนการซื้อก๊าซฯจากพม่าในขณะนี้มีปัญหาคือคุณภาพก๊าซแต่ละแหล่งแตกต่างกัน หากแหล่งหนึ่งแหล่งใดไม่สามารถส่งก๊าซฯได้ ก็จะทำให้ก๊าซทั้งหมดต้องหยุดส่ง ล่าสุดการหยุดส่งระหว่างวันที่ 6-10 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้โรงไฟฟ้าขนาด 6,900 เมกะวัตต์ต้องหยุดผลิตและต้องใช้น้ำมันดีเซลผลิตทดแทนทำให้ต้นทุนสูง ซึ่งการหยุดผลิตของก๊าซพม่าครั้งนี้กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยทุกแหล่งส่งก๊าซในระดับสูงสุด และทำให้ก๊าซในอ่าวไทยสร้างสถิติใหม่ในการผลิตรอบนี้ถึง 3,850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกชได้เลื่อนการปิดซ่อมบำรุงชั่วคราว ขณะที่ กฟผ.ได้มีการผลิตไฟฟ้าจากน้ำเพิ่มขึ้น และขอให้โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ของลาวเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเช่นกัน

ด้านนายสุท้ศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กรณีที่ กกพ.มีติมติเลื่อนการขึ้นค่าเอฟทีออกไป 1 เดือน จากเดิมจะเก็บในอัตรา 30 สต./หน่วยทำให้ กฟผ.รับภาระค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ล้านบาทนั้น ทำให้ในปีนี้ กฟผ.อาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งเดิมตามแผนการลงทุนของ กฟผ.ในปีนี้จะต้องกู้เงินเพิ่ม 20,000 ล้านบาท ดังนั้นก็จะต้องกู้เพิ่มมาเสริมสภาพคล่อง แต่จะเป็นวงเงินมากน้อยเท่าใดนั้นก็คงจะต้องมาพิจารณารายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งการกู้เงินคงจะไม่มีปัญหาเพราะปัจจุบัน กฟผ.มีข้อตกลงกับธนาคารต่างๆ ในการจะเบิกเงินกู้ล่วงหน้า หรือ โอดี ประมาณ 1 หมื่นนล้านบาท แต่ภาระที่เกิดขึ้นคือจะเสียภาระดอกเบี้ยเพิ่ม เพราะ กกพ.จะไม่มีการนำดอกเบี้ยมาคำนวณในค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว ส่วนเอฟทีงวดต่อไป(ก.ย.-ธ.ค.) เอฟทีก็มีแนวโน้มปรับขึ้นอีกตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ผันแปรตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ