ม.หอการค้าไทย คาดส่งออกไปพม่าโต 2 เท่าตัวหลังเข้าร่วม AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2012 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โอกาสการส่งออกไทยไปพม่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 27.1% ต่อปี หรือสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น 2 เท่า มาอยู่ที่ 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 58 จากช่วงก่อนเปิด AEC ที่มีมูลค่าประมาณ 7,010 ล้านเหรียญฯ

ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มส่งออกสดใส คาดว่า สัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยไปพม่าหลังเปิด AEC จะเพิ่มเป็น 74.3% จากปัจจุบันที่ 72.7% และมูลค่าจะเพิ่มขึ้นจากปีละ 5,093 ล้านเหรียญฯ เป็น 10,500 ล้านเหรียญฯ หรือขยายตัวจากปีละ 19.8% เป็น 27.7%

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังส่งออกไปพม่า 10 อันดับแรก ยังคงเป็นกลุ่มเดิม เช่น เครื่องจักร เชื้อเพลิง ยานยนต์ พลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า ยางและของที่ทำด้วยยาง เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เหล็กหรือเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม แต่มีสินค้าดาวเด่นที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นหลังเปิด AEC เช่น ฝ้าย อะลูมิเนียม เซรามิก ซีเมนต์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าทอชนิดพิเศษ ทองแดง เครื่องหนัง และเรือ ซึ่งจะมีสัดส่วนส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 4.9% เป็น 6.1% สร้างรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 88.2 ล้านเหรียญฯ

ส่วนสินค้าดาวร่วง เช่น รองเท้า สบู่ สารซักล้าง เครื่องแต่งกาย หนังสือและรูปภาพ สัดส่วนลดจาก 3.1% ลดเหลือเป็น 2.4% หรือรายได้หายไปปีละ 54.2 ล้านเหรียญฯ

ขณะที่สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปพม่า มีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เพราะพม่าเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้มีการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกและเหลือใช้จำนวนมาก จึงนำเข้าน้อยลง คาดว่าสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปพม่าหลังเปิด AEC จะลดลงเหลือ 25.7% จากปัจจุบัน 27.3%

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดีอยู่ เช่น เครื่องดื่ม เกลือ กำมะถัน ดิน และหิน เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันที่ได้จากสัตว์และพืช ส่วนสินค้าดาวเด่นด้านเกษตร เช่น อาหารเลี้ยงสัตว์ ยาสูบ เมล็ดพืช ไม่ประดับ ขณะที่สินค้าดาวร่วง เช่น ผลไม้ เนื้อสัตว์ โกโก้ และกาแฟ โดยสัดส่วนจะลดจาก 1.0% เหลือ 0.4% หรือรายได้หายไปปีละ 5.4 ล้านเหรียญฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ