นักวิชาการ เชื่อวิกฤติยูโรยืดเยื้อแต่มั่นใจศก.ไทยรับมือได้ มองการเมืองจุดอ่อนทำให้เกิดสูญญากาศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2012 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มองไทยไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤติยูโรโซน ที่คงยืดเยื้อไปราว 4-5 ปี พร้อมเตือนให้ระวัง 5 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติยูโรโซน ที่จะส่งผลกระทบต่อไทยไปด้วย ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และฮ่องกง

"จุดอ่อนที่น่าเป็นห่วงที่สุดเรื่องการบริหารจัดการการเมืองในประเทศ ซึ่งทั่วโลกจับตาเราอยู่ ...ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเพิ่งเริ่มปะทุ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้เกิดสูญญากาศการเมืองที่จะมีผลต่อการประสิทธิภาพการบริหาร" นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวเสวนาเรื่อง"วิกฤติการณ์ยูโรโซน: ปัญหา ผลกระทบ และทางออก"

นอกจากนี้ ให้ระวังเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ที่ขณะนี้มีสัญญาณว่าซัพพลายคอนโดมิเนียมมีเพิ่มมากกว่าอำนาจซื้อ รัฐควรเข้ามาบริหารจัดการให้ดีเพื่อป้องกันก่อนที่ปัญหาจะเกิด รวมถึงการบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้แก่ การปรับขึ้นค่าแรง, การยกเลิกการประกันเงินฝากที่จะมีผลในเดือน ส.ค.นี้ ที่บางส่วนจะมีการนำเงินไปใช้ลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร และปัญหาหรือภาระจากนโยบายประชานิยมมากเกินไป

ส่วนการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น มองว่า ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา และจะกลายเป็นการให้เกิดความหวังหรือการรอคอยจากรัฐบาล สำหรับบริษัทจดทะเบียน และผู้ลงทุนในตลาด

แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไทยยังมีจุดแข็งที่พออุ่นใจได้ว่าสามารถรับมือวิกฤติยูโรโซน คือ ไทยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ โดยมีทุนสำรอง 60% ของจีดีพี รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ระดับกว่า 2% ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินยังคล่องตัวได้มาก

รวมทั้ง หนี้สาธารณะของไทยอยู่ระดับกว่า 40% ซึ่งต่ำกว่ายูโรโซนทีมีหนี้สาธารณะกว่า 100% ปัญหาการว่างงานไม่เกิน 1% โดยในวัยทำงานมีตัวเลขว่างงาน 0.7% ซึ่งต่ำมาก อีกทั้งภาคเอกชนแข็งแรง หนี้ของบริษัทไทยต่ำโดยมีอัตราหนี้สินต่อทุนปรับลงมา 1 เท่าจากเดิม 3-4 เท่า

"ภาพลักษณ์ไทยในสายตาต่างประเทศ มองว่าปัจจัยเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่...มีความคาดหวังเงินลงทุนจากรัฐบาล"นายสมภพ กล่าว

ทั้งนี้ มองว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เกิดขึ้นมาสอดคล้องกับปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในเอเชีย โดยมีอาเซียน หรือ AEC เป็นจุดที่น่าสนใจ ดังนั้นรัฐบาลควรจะบริหารจัดการให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนทุกด้าน ทั้งการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง และระบบการสื่อสาร เพราะไทยมีปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ดี

ขณะที่ปัญหาวิกฤติหนี้ยูโร ที่คงยืดเยื้อต่อไปราว 4-5 ปี แต่คาดว่าในที่สุดมองว่าสหรัฐก็จะเข้ามาอุ้มยุโรป โดยการอัดฉีดสภาพคล่องลักษณะคล้าย QE ช่วยยูโรโซน โดยการอัดฉีดเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำได้ง่าย เพราะโลกยังมีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ