TMB คาดส่งออกไทยปี 55 โตแค่ 7% หลุดเป้า โดนวิกฤตยุโรป-ศก.จีน-สหรัฐฉุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตแค่ร้อยละ 7 หลุดเป้า 15% จากต้นตอจากวิกฤตหนี้ยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ พร้อมแนะไม่ควรสนใจวิกฤติในยุโรปเพียงอย่างเดียว

แม้ว่าตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ผ่านมา และยอดรวมส่งออกเดือนพ.ค. 55 มูลค่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ บ่งชี้การปรับตัวดีขึ้นของภาคส่งออกของไทยเพราะสามารถขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนเม.ย. ที่ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 3.7 เป็นผลเชื่อมโยงจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาผลิตได้ในระดับใกล้เคียงกับระดับปกติในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย

และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออก พบว่าเกือบทุกตลาดขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะตลาดหลัก นำโดยจีนขยายตัวร้อยละ 22.3 อาเซียนร้อยละ 13.4 สหรัฐฯ ร้อยละ11 ญี่ปุ่นร้อยละ 5 และแม้แต่ยุโรปที่หดตัวต่อเนื่องมา 7 เดือนนับตั้งเกิดอุทกภัย สามารถโชว์พลิกฟื้นขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 นำโดย สินค้าอุตสาหกรรมหมวดคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ

แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีมองว่าการตัวเลขดังกล่าวยังไม่สะท้อนถึงการกลับมาขยายตัวอย่างยั่งยืนของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่ยังหาทางออกจากวิกฤติหนี้สาธารณะไม่ได้ เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ การฟื้นตัวก็ยังคงเปราะบาง โดยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตในสหรัฐฯ(ISM) ประจำเดือนมิ.ย. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.7 ลดลงจากระดับ 53.5 ในเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี แสดงว่าการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม

ไม่ต่างจากตลาดจีนที่ตัวเลขทางเศษฐกิจยังสะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งของทางการและของ HSBC ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือนมิ.ย.จากเดือนที่แล้ว โดยดัชนีดังกล่าวของทางการถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน ส่วนดัชนี PMI ของ HSBC ที่เป็นการสำรวจบริษัทเอกชนรายเล็กในประเทศด้วย ได้แสดงถึงการหดตัวมาเป็นเดือนที่แปดติดต่อกันแล้ว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ยอดส่งออกรวมของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 55 ยังคงหดตัวร้อยละ 1.7 โดยตลาดยุโรปยังคงอยู่ในแดนลบถึงร้อยละ 11.3 ขณะที่ได้อานิสงส์จากตลาดอาเซียนและจีน (สัดส่วนรวมกัน 37.6%) ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 8.7 และ 8.4 ตามลำดับ พยุงยอดส่งออกไม่ให้ทรุดลงมาก อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกและภาครัฐไม่ควรสนใจแต่วิกฤติยุโรปเพียงอย่างเดียว และมองข้ามการแผ่วตัวในประเทศคู่ค้าอื่นๆ

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มกลับสู่ระดับปกติได้ทั้งหมดในไตรมาสสาม สะท้อนจากตัวเลขการผลิตในช่วง 5 เดือนแรก โดยหากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายในประเทศ อาทิ ปูนซิเมนต์ ปิโตรเคมี จะเห็นการผลิตกลับมาเติบโตสูงกว่าระดับเฉลี่ยในปี 54 เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีสัดส่วนส่งออก 30-60% ซึ่งนำโดยหมวดยานยนต์ที่หลายค่ายเร่งผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเร่งส่งมอบรถยนต์ที่ค้างมาหลายเดือน ทำให้ตัวเลขการผลิตเติบโตมากกว่าระดับเฉลี่ยของปี 2554 ถึงร้อยละ 84.4

ในขณะอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก(ส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม) ถือว่าระดับการฟื้นฟูยังคงช้ากว่ากว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ หรือรอการนำเข้าเครื่องจักรเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ทำให้ขณะนี้ยังคงผลิตได้ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของปี 2554 ถึงร้อยละ 17.3 แต่เชื่อว่าจะเดินหน้ากลับสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาสสามเป็นต้นไป

การผลิตที่เพิ่มขึ้นจึงนำไปสู่การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกอย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่ได้เป็นไปในอัตราเร่งมากนัก เพราะตลาดคู่ค้าหลักอย่าง จีน ยุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตแผ่วลงตามทิศทางการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ยุโรปที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีโอกาสเห็นการส่งออกไปตลาดยุโรปขยายตัวเป็นบวกในอัตราสูงประมาณร้อยละ 11 แต่ก็เป็นภาพลวงตาจากฐานต่ำในช่วงอุทกภัย ทำให้คาดว่ายอดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตในอัตราที่ร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 54 และทำให้ทั้งปี 55 เติบโตที่ร้อยละ 7 เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ