ธ.เอชเอสบีซี ชี้เอเชีย-ไทยยังมีช่องลดดอกเบี้ยตั้งรับศก.สหรัฐส่อแย่ใน Q4

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 6, 2012 18:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเอชเอสบีซี(HSBC)มองว่าไทยยังมีช่องว่างในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก พร้อมเตือนไทยและประเทศเอเชียจะต้องเตรียมพร้อมตั้งรับเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจทรุดตัวลงในช่วงไตรมาส 4/55 หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดแรง จะเป็นการซ้ำเติมวิกฤติยุโรปที่ทิศทางการแก้ไขปัญหายังไม่ชัดเจน

นายอองเดร เดอ ซิลวา ผู้อำนวยการบริหารระดับสูงฝ่ายตลาดดอกเบี้ยเอเชียแปซิฟิก ศูนย์วิจัยธนาคารเอชเอสบีซี ธนาคารเอชเอสบีซีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปะเทศไทยยังมีช่องว่างในการลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงมามาก แม้ว่าจะปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้วแต่ก็ยังต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์

ทั้งนี้ มองว่าหลายประเทศในเอเชียยังมีความสามารถจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ หากเศรษฐกิจโลกแย่ลง ซึ่งในภูมิภาคเอเชียพบว่าตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะตัวเลขทางอุตสาหกรรม แม้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐยังดีอยู่ แต่การส่งออกไปยุโรปหดตัว ประกอบกับตัวเลข PMI ของหลายประเทศในเอเชียลดต่ำลง แสดงถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นายเดอ ซิลวา กล่าวแนะนำว่า ประเทศในเอเชียไม่ควรห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อมากนัก แต่ควรจะหันมาเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มทรุดตัวลงมากในช่วงไตรมาส 4/55 หลังจากมาตรการของรัฐบาลหมดแรงกระตุ้นใช้จ่าย600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 4% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกไทย ซึ่งขณะนี้หลาย ฝ่ายกำลังจับตาว่าธนาคารกลางสหรัฐจะหันมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE : Quantitative Easing) รอบใหม่มาใช้หรือไม่

สำหรับภาวะเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 0.6% ขณะที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 0.75% ก็ยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง ซึ่งประเทศในยูโรโซนควรจะจับมือกันออกพันธบัตรร่วมกันให้ ECB เข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าว แต่ก็มองว่าปัญหาตามมาคือหลายประเทศอาจจะต่อต้าน เช่น เยอรมัน เพราะเกรงว่าจะกระทบกับอัตราดอกเบี้ยของเยอรมัน และการจัดตั้งองค์กร ESM ที่มีกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านยูโร

นอกจากนั้นปริมาณการขยายตัวส่งออกหลายประเทศในภูมิภาคไปยุโรปเริ่มแย่ลง แม้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เริ่มหันกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางด้านภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างประเทศยังคงเป็นการไหลเข้าสุทธิในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทย มาเลเซียและเกาหลี แสดงให้เห็นว่าแม้เกิดวิกฤกติเศรษฐกิจยุโรปนักลงทุนต่างชาติยังต้องการถือพันธบัตรรัฐบาลเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ