พณ.เผยอียูแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับสารปนเปื้อนและวัตถุเจือปนในอาหาร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 10, 2012 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ออก Commission Regulation (EU) No 594/2012 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 เพื่อแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณสารปนเปื้อนสูงสุดที่ยอมรับได้ในผลิตภัณฑ์อาหารบางรายการจากที่ได้กำหนดไว้เมื่อปี 2549 ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่ผลิตจากธัญพืชที่ไม่ผ่านการแปรรูป รวมถึงธัญพืชที่ผ่านการแปรรูป และธัญพืชสำหรับมนุษย์บริโภคโดยตรง (ระดับสูงสุด 3.0 µg/kg) ยกเว้นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ผลิตจากธัญพืชเป็นวัตถุดิบหลัก และผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กอ่อน และอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษทางการแพทย์สำหรับทารก (ระดับสูงสุด 0.50 µg/kg)

2. เครื่องเทศ และเครื่องเทศอบแห้ง ดังนี้ 2.1 พริกไทยขาว พริกไทยดำ จันทน์เทศ ขิง และขมิ้น (ระดับสูงสุด 15 µg/kg) 2.2 พริกขี้หนู พริกป่น พริกหยวก และพริกในตระกูล cayenne (30 µg/kg จนถึง 31 ธันวาคม 2557 และระดับสูงสุด 15 µg/kg ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558) 2.3 เครื่องเทศรวม โดยมีเครื่องเทศตามข้อ 2.1 และ 2.2 ผสมอยู่ด้วย (ระดับสูงสุด 15 µg/kg)

3. กลูเต็นของข้าวสาลีที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค (8.0 µg/kg)

4. เมลามีน แบ่งเป็น 4.1 ในผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป ยกเว้นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารก (ระดับสูงสุด 2.5 mg/kg) 4.2 ในอาหารสำหรับทารกชนิดผง (ระดับสูงสุด 1 mg/kg)

กฎระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ยกเว้นรายการสินค้าในข้อ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี กฎระเบียบดังกล่าวไม่มีผลครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ข้างต้น

อนึ่ง EU เป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของไทย การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยไปยัง EU เฉลี่ย 3 ปี (ปี 2552-2554) มีมูลค่า 1,725 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 959.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (EU) ยังได้ออกระเบียบ Commission Regulation (EU) No 675/2012 เพื่อปรับปรุงรายละเอียดเกี่ยวกับระดับสูงสุดของวัตถุเจือปนในอาหาร ในส่วน Annex II to Regulation (EC) No 1333/2008 โดยเพิ่มรายการที่ใช้ในการถนอมอาหารได้ คือ แป้ง ขี้ผึ้งและครั่ง ในการเคลือบเปลือกไข่ต้ม เพราะพิจารณาแล้วว่าสิ่งเจือปนดังกล่าวสามารถช่วยในเรื่องการถนอมอาหารแต่ไม่ซึมเข้าไปในเนื้อไข่ ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ