ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองบวก 20 เซนต์ ขณะพลาตินั่มพุ่งเหตุวิตกอุปทาน

ข่าวต่างประเทศ Saturday August 18, 2012 08:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) หลังจากมีการเปิดเผยรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงเกินคาด แต่ช่วงบวกถูกจำกัด ขณะที่ยังไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมโดยธนาคารกลางสหรัฐหรือธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ขยับขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 1,619.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 21 เซนต์ หรือ 0.74% ปิดที่ 28.002 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. พุ่งขึ้น 37.9 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 2.6% ปิดที่ 1,473.10 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 21.65 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 605.10 ดอลลาร์/ออนซ์

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดมีทั้งบวกและลบ โดยดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นไม่เป็นผลดีต่อราคาทอง เพราะทำให้ทองซึ่งซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์มีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ นักลงทุนจึงสนใจเข้าซื้อทองคำลดลง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ส่งผลต่อบรรยากาศการซื้อขายเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 หรือ QE3 ด้วยการพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อทองคำ เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ช่วยกระตุ้นแรงซื้อเข้าสู่ตลาดทองคำ

อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงต้นเดือนส.ค.ที่พุ่งสูงเกินคาดเป็นแรงหนุนตลาดหุ้น ตลาดน้ำมัน รวมถึงเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำให้สามารถปรับตัวสูงขึ้นตามได้ แม้จะไม่มากนัก

ในวันศุกร์ รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงต้นเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ระดับ 73.6 จากระดับ 72.3 ในเดือนก่อนหน้านี้ เมื่อเทียบกับที่ระดับ 72.2 ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่งขึ้นในไตรมาสนี้

ด้านสัญญาพลาตินั่มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อวันศุกร์ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปทาน หลังเกิดเหตุคนงานเหมือนประท้วงใกล้กับเหมืองพลาตินั่มของลอนมินในแอฟริกาใต้ ซึ่งสถานการณ์ได้บานปลายกลายเป็นเหตุความรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 34 ราย

ทั้งนี้ ลอนมินเป็นผู้ผลิตพลาตินั่มรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ขณะที่แอฟริกาใต้เป็นแหล่งผลิตพลาตินั่มในสัดส่วนถึง 75-80% ของโลก โดยพลาตินั่มจะถูกนำไปใช้ในการผลิตชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น ระบบกรองไอเสียรถยนต์ หัวเทียน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ