กสทช.ยันมีอำนาจประมูล3G เชื่อคำร้องนักวิชาการล้มประมูลไร้เหตุผลเพียงพอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 8, 2012 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคมจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 10 ต.ค.นี้ เพื่อขอให้ระงับการประมูลใบอนุญาต(ไลเซ่นส์) 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ของกสทช.ที่จะมีในวันที่ 16 ต.ค.ว่า ขอยืนยันว่า กสทช.ได้ดำเนินการทุกอย่าตามกฎหมายและขั้นตอนและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

โดยที่ผ่านมา กสทช.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(ประชาพิจารณ์)ต่อร่าง IM ในการประมูลคลื่นความถี่มาเป็นระยะ และได้มีการปรับปรุงจนถึงขั้นสุดท้ายก่อนการประมูลไลเซ่นส์ โดยมั่นใจว่า กสทช.จะสามารถตอบได้ทุกคำถามที่มีข้อร้องเรียนมา พร้อมมั่นใจว่าการประมูล 3จี วันที่ 16 ต.ค.นี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

นายฐากร กล่าวว่า วันพรุ่งนี้(9 ต.ค.) สำนักงาน กสทช.จะนำผลการตรวจคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส(ADVANC), บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) เสนอที่ประชุมคณะกรรมการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อขอความเห็นชอบก่อนเปิดเคาะไลเซ่นส์ 3จี ในวันที่ 16 ต.ค.ต่อไป

นอกจากนี้ ในการประชุมบอร์ด กทค.วันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม(CAT) ขยายระยะเวลาดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาใน 6 ข้อ ตามประกาศ กทค.ไปอีก 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ โดยนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ ระบุว่า การดำเนินการแก้ไขเกือบครบถ้วนแล้ว แต่ยังเหลือบางประเด็นที่อยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขอยู่ดังนั้นจึงขอขยายเวลาออกไปอีก

ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า จากกรณีที่มีนักวิชาการจะไปฟ้องให้ศาลปกครองเพื่อขอให้สั่งระงับการประมูล 3จี ไว้ก่อน โดยอ้างว่า กสทช. ยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประมูลเพื่อประโยชน์ประชาชน 4 เรื่อง คือ 1. เรื่องคุณภาพการให้บริการ 2. เรื่องราคาค่าบริการ 3. เรื่องคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส และ 4. เรื่องการนำเงินประมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น ตนเห็นว่าการฟ้องดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่การระงับการประมูล 3จี โดยเหตุผลต่อไปนี้

1. การจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย ดังนั้น หากผู้ใดฟ้องคดีอย่างกว้างๆ โดยคาดคะเนถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป ศาลอาจมองว่าผู้นั้นไม่มีสิทธิฟ้องคดี 2. แม้สมมติว่า มีสิทธิฟ้อง แต่เหตุผลที่จะนำไปฟ้องนั้ เป็นการกล่าวอ้างว่า กสทช.ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งย่อมเป็นคนละประเด็นกับการจัดการประมูล กล่าวคือการฟ้องว่า กสทช.กำหนดกฎระเบียบไม่ครบถ้วนย่อมเป็นคนละประเด็นกับการฟ้องว่าการประมูลจัดขึ้นโดยผิดกฎหมาย ดังนั้นการจะขอให้ศาลสั่งระงับการประมูล ก็อาจเป็นคำขอที่ไม่ตรงประเด็น

3. เนื้อหาสาระที่ฟ้องที่ขาดน้ำหนัก เพราะหากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ ย่าน 2.1 GHz จะเห็นว่า กสทช. เอง ก็มีข้อกำหนดเพื่อกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว เช่น ข้อ 16 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้โครงข่ายรองรับความเร็วได้ตามมาตรฐานและคุณภาพ ต้องสนับสนุนการอำนวยความสะดวกต่อผู้มีรายได้น้อย คนพิการ อีกทั้งต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ฯลฯ

4. ประเด็นเรื่องการนำรายได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ได้บัญญัติไว้แล้ว เช่น มาตรา 50 ที่กำหนดให้ กสทช.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปจัดการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานโดยทั่วถึง หรือมาตรา 65 ที่กำหนดเกี่ยวกับการนำรายได้ต่างๆ ของ กสทช.มาจัดสรรเพื่อสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ หรือกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาฯ เป็นต้น การจะมองเฉพาะเงินประมูลส่วนเดียวย่อมเป็นการมองที่แคบเกินไป

และที่สำคัญ เมื่อสุดท้ายมีการนำเงินประมูลที่เหลือส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ก็ย่อมเป็นความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะนำรายได้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยให้ กสทช.ซึ่งเป็นเพียงองค์กรกำกับดูแลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากำหนดวิธีการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเสียเอง และหากจะให้องค์กรตุลาการเข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารรายได้แผ่นดินก็ยิ่งเป็นการไม่สมควรขึ้นไปอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ