ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองคำปิดลดลง 10.9 ดอลลาร์ จากแรงขายทำกำไร

ข่าวต่างประเทศ Saturday October 13, 2012 08:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (12 ต.ค.) จากแรงขายทำกำไร หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองได้แรงหนุนจากแนวโน้มการผ่อนคลายทางการเงินโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งมาตรการลักษณะดังกล่าวได้ช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้าซื้อโลหะมีค่าเพื่อเป็นเกราะป้องกันเงินเฟ้อ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 10.9 ดอลลาร์ หรือ 0.62% ปิดที่ 1,759.7 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. หลังจากเคลื่อนไหวในช่วง 1,753.50 - 1,775.00 ดอลลาร์ในระหว่างวัน สำหรับตลอดสัปดาห์ ราคาทองลดลง 1.2%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 41.3 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 33.669 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค.ปิดที่ 1,659.30 ดอลลาร์/ออนซ์ ร่วงลง 30.30 ดอลลาร์ หรือ 1.8% และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค.ปิดที่ 639.05 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 11.85 ดอลลาร์ หรือ 1.8%

เทรดเดอร์กล่าวว่า ดูเหมือนทองจะได้อานิสงส์เต็มๆ จากการประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อเดือนที่แล้ว ส่งผลให้เริ่มมีแรงขายทำกำไรเข้ามาในตลาด ก่อนที่จะถึงการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ทั้งนี้ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินดังกล่าวดึงดูดให้นักลงทุนเข้าซื้อโลหะมีค่า เพราะวิตกว่ามาตรการเหล่านี้อาจทำให้มูลค่าของเงินลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนมักใช้ทองเป็นตัวปกป้องความเสี่ยงจากเงินเฟ้อซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่างๆ

ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้นและข้อมูลด้านแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งได้จุดปะทุความวิตกกังวลว่าเฟดอาจควบคุมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่มาตรการดังกล่าวได้ช่วยหนุนราคาทองในช่วงที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณดีขึ้น ดังนั้นระยะเวลาในการใช้มาตรการ QE อาจไม่ยาวนานเหมือนที่มีการคาดการณ์ในตอนแรก ดังนั้นผู้ที่ซื้อทองในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น จึงเริ่มปลีกตัวออกจากตลาด

ราคาทองปรับตัวลงหลังความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนต.ค.จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะเกิดภาวะถดถอยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้ค้าปลีกจะได้เห็นยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงต้นเดือนต.ค. จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 83.1 จุด จากระดับ 78.3 จุดในเดือนก่อนหน้า สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่า จะลดลงสู่ระดับ 78 จุด

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 6 ต.ค. ร่วงลง 30,000 ราย มาอยู่ที่ 339,000 ราย ซึ่งดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 370,000 ราย นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่ช่วยเพิ่มความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ หลังจากที่เพิ่งมีการเปิดเผยอัตราว่างงานที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปีที่ 7,8%

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 1.1% ในเดือนกันยายน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนสิงหาคม และดัชนี PPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานทรงตัวในเดือนก.ย. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้นักลงทุนส่วนหนึ่งขายสัญญาทองก่อนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ