In Focusควันหลงรางวัลโนเบล รางวัลทรงเกียรติที่ยุโรปต้องแลกด้วยคำวิจารณ์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 17, 2012 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"...It is my express wish that in awarding the prizes no consideration be given to the nationality of the candidates, but that the most worthy shall receive the prize, whether he be Scandinavian or not. ..."

นี่คือเจตนารมณ์ที่อัลเฟร็ด บี. โนเบล (Alfred B. Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ประดิษฐ์ ไนโตรกลีเซอรีน หรือระเบิดไดนาไมต์ เขียนไว้ในพินัยกรรมก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ซึ่งมีนัยว่า ผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลโนเบลจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดว่าบุคคลนั้นจะมีเชื้อชาติหรือพูดภาษาใด

สำหรับรางวัลโนเบลในปีนี้ "สหภาพยุโรป (อียู) " ได้รับการประกาศให้ครอบครองรางวัลโนเบล "สาขาสันติภาพ" แต่ทันทีที่เสียงประกาศนี้ถูกเผยแพร่ออกไป เสียงร้องยี้ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ตามมามากมาย เพราะภาพของอียูในสายตาของชาวโลกก็คือ ความสับสนอลหม่าน จลาจล ผู้คนตกงาน ทั้งธนาคารและรัฐบาลมีหนี้สินบานตะไท เศรษฐกิจถดถอย และประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในวังวนของหนี้สาธารณะ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนรู้สึกตะขิดตะขวงใจไม่น้อยกับรางวัลนี้ เพราะที่ผ่านมา ยุโรปดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผิดหลักการและกฏเกณฑ์ ซึ่งกฎดังกล่าวรวมถึงการควบคุมการขาดดุลงบประมาณ และการควบคุมระดับหนี้สาธารณะของประเทศไม่ให้สูงเกินไปกว่าเพดานที่กำหนดเอาไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน หรือกรีซ ก็ไม่สามารถทำตามกฎที่ตัวเองร่วมกันวางไว้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางประเทศอย่างกรีซ ยังใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายผลาญเงินไปกับนโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลทางการเมือง จนจะทำให้ประเทศล่มจม และจะฉุดเอาเศรษฐกิจยุโรปทั้งภูมิภาค รวมทั้งเศรษฐกิจโลก พลอยสั่นสะเทือนไปด้วย สรุปก็คือว่า ไม่ว่าจะมองจากมุมใด รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ก็ไม่เหมาะกับอียูโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลมองว่า แม้อียูจะเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างหนักและผ่านศึกสงครามโลกแม้แล้วถึง 2 ครั้ง แต่คณะกรรมการให้ความสำคัญกับบทบาทของอียูในการสร้างสันติภาพภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในยุคนั้นยุโรปเคยเป็นดินแดนที่สิ้นหวังและไร้อนาคต ขณะที่สหรัฐอเมริกากับรัสเซียเผชิญหน้ากันในภาวะสงครามเย็น

ธอร์บียอร์น ยักลันด์ ประธานคณะกรรมการโนเบลของนอร์เวย์ กล่าวว่า อียูและยุโรป ช่วยกันส่งเสริมสันติภาพและการปรองดอง รวมทั้งประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่มองมุมบวกบางคนกล่าวว่า การมอบรางวัลดังกล่าวให้กับยุโรป ก็เปรียบเสมือนการกระตุ้นให้ยุโรปเร่งแก้ปัญหาหนี้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นปัญหาหนี้ยุโรป อาจจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ได้ และอาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมจนกระทบกับเสถียรภาพและสันติภาพโลกได้

เสียงต่อต้านการรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของอียู ชวนให้นึกถึงกระแสต่อต้าน "บารัค โอบามา" ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลแค่ว่า โอบามาสั่งถอนทหารออกจากอิรัก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เหตุผลหลักที่โอบามาสั่งถอนทหารออกจากอิรักนั้นไม่ใช่เป้าหมายด้านสันติภาพ แต่เป็นเพราะสหรัฐต้องการจะประหยัดงบประมาณ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ หลังจากโอบามาเข้ารับตำแหน่งแล้ว เขาก็ไม่ได้ทำผลงานทางด้านสันติภาพด้านใดด้านหนึ่งที่คู่ควรกับรางวัลโนเบล ไม่ได้ชะลอสงครามในตะวันออกกลาง แต่กลับเพิ่มความขัดแย้ง จนล้มลิเบียได้สำเร็จ สังหารมูอัมมาร์ กัดดาฟี นอกจากนี้ สหรัฐภายใต้การนำของโอบามากำลังเร่งกำราบซีเรียและเผด็จศึกอิหร่าน ส่วนในเอเชีย โอบามาเล่นเกมปิดล้อมจีน เพื่อผลักดันโลกเข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่อย่างเต็มตัว จนผู้คนพากันสงสัยว่า โอบามาอาจจะสะกดคำว่าสันติภาพไม่เป็นด้วยซ้ำ

ส่วนในภูมิภาคเอเชียนั้น ผู้คนต่างก็ฮือฮา เมื่อ "ม่อ เอี๋ยน" (Mo Yan) นักเขียนชาวจีน ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ม่อ เอี๋ยน เกิดในครอบครัวชาวนาที่เมืองชอดอง ในปี พ.ศ. 2498 เขาได้เข้าร่วมกองทัพบกและกองทัพอากาศของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนหรือ “PLA” (People?s liberation army) เมื่ออายุ 20 ปี และเริ่มต้นลงมือเขียนทั้งนวนิยายและรวมเรื่องสั้น ได้แก่ Red Sorghum, Big Breasts & Wide Hips, Life and Death Are Wearing Me Out และล่าสุดคือเรื่อง Frog

ม่อ เอี๋ยน เป็นนักเขียนคนที่ 4 ในเอเชียที่สามารถคว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมาครองได้ ถัดจาก รพินทรนาถ ฐากูร จากอินเดียในปี พ.ศ.2456 , คาวาบาตะ ยาสึนาริ จากญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2511 และเคนซาบูโระ โอเอะจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2537

* ประวัติความเป็นมาของรางวัลโนเบล

อัลเฟร็ด บี. โนเบล เป็นผู้จัดตั้งมูลนิธิโนเบล และได้มอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้กับมูลนิธินี้ เพื่อเป็นการไถ่บาปที่ระเบิดไดนาไมต์ซึ่งเขาคิดค้นขึ้นมานั้น ได้คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก เขาตั้งเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเอาไว้ว่า รางวัลโนเบลจะมอบแก่บุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ

ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีการประกาศรายชื่อของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ และจากนั้นจะมีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี พิธีมอบรางวัลโนเบลครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีพ.ศ. 2444 ซึ่งคล้อยหลังจากที่อัลเฟร็ด บี.โนเบล เสียชีวิตไปได้ 5 ปี โดยมีการมอบรางวัล 5 สาขา คือ รางวัลด้านวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์สาขาเคมี วิทยาศาสตร์สาขาการแพทย์และสรีรวิทยา วรรณกรรม และสันติภาพ ซึ่งในสมัยนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดนเป็นผู้พระราชทานรางวัล โดยผู้ที่ได้รับการประกาศชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลจะได้รับ เหรียญรางวัล (เป็นเหรียญทองที่ด้านหน้าสลักเป็นรูปใบหน้าของอัลเฟร็ด บี. โนเบล) ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินสดประมาณ 10 ล้านโครน หรือประมาณ 70 ล้านบาท

สำหรับสาขาต่างๆของรางวัลโนเบลนั้น ก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลของแต่ละสาขา ดังต่อไปนี้

1. สาขาการแพทย์ สถาบันโคโรลินสกา (Korolinsaka Institute) ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของสวีเดน เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก

2. สาขาเคมีและสาขาฟิสิกส์ สถาบันวิชาการด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academyof Science) ซึ่งเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสวีเดน เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก

3. สาขาวรรณกรรม สถาบันวิชาการแห่งสวีเดน (Swedish Academy) เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก

4. สาขาสันติภาพ รัฐสภาของนอร์เวย์ เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก

5. สาขาเศรษฐศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภาแห่งสวีเดน (Royal Swedish Academyof Sciences) เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก

สาขาเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาที่เพิ่มเข้ามาในปีพ.ศ.2512 มีชื่อเรียกที่พิเศษ คือ "Bank of Sweden Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel" หรือแปลเป็นไทยคือ "รางวัลธนาคารกลางสวีเดนสาขาเศรษฐศาสตร์ ในความทรงจำถึง อัลเฟรด โนเบล" หรือเรียกสั้นๆ ว่า Nobel Memorial Prize in Economics ซึ่งแม้ว่าจะเป็นรางวัลที่เพิ่มเข้ามาใหม่หลังจากเสียชีวิตของอัลเฟร็ด บี. โนเบล แต่ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเกียรติเท่ากับสาขาอื่นๆ และจะได้รับรางวัลจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดนเช่นเดียวกับสาขาอื่นๆด้วย

ทั้งนี้ เราจึงไม่แปลกใจที่จะเห็นใบหน้าอันภาคภูมิใจของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในแต่ละปี เพราะรางวัลโนเบลถือ เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และเชิดชูเกียรติของมนุษยชาติ ซึ่งบ่งบอกถึงความเก่งกาจ ยอดเยี่ยม และเป็นผู้อุทิศตนเพื่อความเจริญก้าวหน้า ความสงบและสันติของประชาคมโลกอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ