ผู้ส่งออกกุ้งไทยโดนสหรัฐปรับ 1 หมื่นเหรียญฯฐานผิดกม.แข่งขันไม่เป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 22, 2012 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีบริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด ตกลงกับอัยการรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐฯ เพื่อจ่ายค่าปรับจำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ในข้อหาฐานที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการประกอบกิจการผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งจากไทยไปยังสหรัฐฯ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม(Unfair Competition Act-UCA)ว่า ถือเป็นการใช้มาตการทางกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้นของประเทศผู้ซื้อ-ผู้นำเข้า

"กรณีนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ประกอบการของไทยต้องตระหนักถึงการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯและประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ จะใช้เป็นตัวอย่างให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด" รมช.พาณิชย์ กล่าว

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปในปี 55 คาดว่าจะมีมูลค่า 3,256.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8% คิดเป็นปริมาณ 361,226 ตัน หรือลดลง 5% โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 55(ม.ค.-ส.ค.)ส่งออกไปทั่วโลกแล้วมีปริมาณ 210,498 ตัน ลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง ปริมาณ 118,280 ตัน หรือ ลดลง 6% และกุ้งแปรรูป ปริมาณ 92,218 ตัน หรือ ลดลง 16%

สาเหตุที่การส่งออกกุ้งมีมูลค่าการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกลดลง เป็นผลจากการที่คู่แข่งสำคัญของไทย คือ อินโดนีเซีย สามารถผลิตกุ้งออกสู่ตลาดมากขึ้นจากที่เคยประสบปัญหาโรค IMNV ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับ อินเดียหันมาเลี้ยงกุ้งขาว ทำให้มีปริมาณวัตถุดิบกุ้งในตลาดโลกมากส่งผลให้ราคาสินค้ากุ้งในตลาดโลกปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก(สัดส่วน 37%) มีมูลค่าการส่งออกลดลง 31 % เนื่องจากผู้นำเข้ามีการชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากไทย เพราะราคาสินค้าของไทยสูงกว่าคู่แข่ง โดยส่วนหนึ่งหันไปนำเข้าสินค้ากุ้งจากอินโดนีเซีย อินเดีย และประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้เพิ่มขึ้น คาดว่าการส่งออกในปี 55 จะมีปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกลดลงจากปี 54

อย่างไรก็ตาม การผลิตและส่งออกกุ้งของไทย มีจุดแข็งหลายด้าน เชื่อว่าจะยังรักษาตลาดและสถานภาพความเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการเป็นผู้ผลิตอาหาร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านการผลิตทางการเกษตร อีกทั้งคุณภาพสินค้าและกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งของไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

สำหรับกลยุทธ์การเพิ่มการค้าสินค้ากุ้ง กรมฯได้สนับสนุนให้ตรวจสอบสุขอนามัยทั้งในเรื่องการจัดระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการแพกุ้ง การยกระดับมาตรฐานด้านสถานที่แปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น เป็นต้น การส่งเสริมความหลากหลายของสินค้าและขยายตลาดให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีน ยุโรปตะวันออก รัสเซีย สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการแปรรูปสินค้ากุ้งในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น

"กรมฯหวังว่ากรณีดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการไทยและพันธมิตรทางธุรกิจตื่นตัว เพื่อตรวจสอบกิจการของตนเองและเครือข่ายใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กร เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสามารถประกอบธุรกิจภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย และเร่งดำเนินการในการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันผลกระทบต่อธุรกิจ รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด" นางศรีรัตน์ กล่าว

แท็ก อัยการ   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ