สำนักวิจัยหั่นคาด GDP ไตรมาส 3/55 หลังส่งออกวูบหนัก แต่ศก.ภายในยังช่วยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 16, 2012 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเศรษฐกิจพร้อมใจหั่นคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 3/55 ต่ำกว่าเดิม หลังได้รับผลจากภาคการส่งออกที่เข้าขั้นโคม่าจากผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจในยูโรโซน แต่ยังโชคดีได้แรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ถึงขั้นนอนหยอดน้ำเกลือ

ส่วนทั้งปี 55 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 5.0-5.7% ขณะที่แนวโน้มปี 56 ประเมินว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 4.5-5.0% โดยคาดหวังโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน, โครงการบริหารจัดการน้ำ เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) จะประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3/55 อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 พ.ย.นี้ พร้อมคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งปี 55 และแนวโน้มในปี 56

                      ประมาณการ GDP ของแต่ละหน่วยงานในไตรมาส 3/55 และทั้งปี 55-56

          หน่วยงาน                    GDP ไตรมาส 3/55           ปี 55          ปี 56

          สภาพัฒน์ฯ                           -                5.5-6.0%         -
          ธนาคารแห่งประเทศไทย               3.3%                5.7%          4.6%
          ศูนย์วิจัยฯ ม.หอการค้าไทย             4.1%                5.4%          4.5%
          ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์                 2.4%                5.3%          4.6%
          ศูนย์วิจัยฯ กสิกรไทย                  3.5%                5.0%          5.0%
          ศูนย์วิจัยฯ ม.รังสิต                   4.4%              5.0-5.5%        4-5%

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 3/55 น่าจะขยายตัวได้ 3.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการส่งออก และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ จากรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 55 ไว้ที่ 5.7% โดยอุปสงค์ในประเทศยังมีแรงส่งต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน แม้ว่าเครื่องชี้การลงทุนและการนำเข้าจะส่งสัญญาณว่าอุปสงค์ในประเทศอาจแผ่วลงจากที่ประเมินไว้ก็ตาม

ขณะที่ในปี 56 ยังคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในระดับ 4.6% จากเดิมคาดไว้ 5% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าแต่ในอัตราที่ลดลงจากครั้งก่อนค่อนข้างมากเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงและมีปัญหายืดเยื้อ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศมากกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งมีผลเพิ่มเติมจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ในครั้งก่อน

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาของยุโรปที่ยังยืดเยื้อ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงจากที่มาตรการด้านการคลังจะสิ้นสุดอายุลงในปีนี้ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั้ง 12 ประเทศขยายตัวลดลงด้วย ด้านแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปี 56 จะยังมาจากการบริโภค, การลงทุนในประเทศ, อัตราดอกเบี้ยต่ำ และธนาคารปล่อยสินเชื่อในระดับสูง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ในไตรมาส 3/55 ซึ่งสภาพัฒน์จะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 พ.ย.55 น่าจะเติบโตได้ 4.1% ใกล้เคียงกับ GDP ใน Q2/55 ที่เติบโตได้ 4.2% จากภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นแม้จะยังไม่โดดเด่นนักเพราะเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหา ประชาชนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศกรีซและสเปน ซึ่งแม้สหรัฐฯ จะประกาศใช้มาตรการ QE3 ออกมาก็ยังไม่ส่งผลทันต่อภาวะเศรษฐกิจไทยได้ทันในไตรมาส 3

ขณะที่มองว่าทั้งปี 55 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 5.4% โดยได้ปรับลดลงจากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.6% สาเหตุที่ปรับ GDP ลดลงเป็นเพราะปัญหาจากภาคการส่งออกที่เติบโตลดลงเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตได้เพียง 3.5% เท่านั้น จากที่ก่อนหน้านี้เคยประเมินไว้ที่ 10% และปรับลดลงมาเหลือ 5.7% และสุดท้ายที่ 3.5% ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในยุโรปเป็นสำคัญ

ส่วนในปี 56 นั้นประเมินว่า GDP จะเติบโตในระดับ 4.5% ซึ่งต่ำกว่าในปี 55 เพราะประเทศไทยยังมีหลายปัจจัยลบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เช่น ความไม่แน่นอนในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีสูง, เสถียรภาพทางการเมืองทั้งในประเทศและโลก, ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน, ภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิต รวมทั้งค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จำเป็นจะต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศให้เป็นตัวพยุงหลัก

นายพชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/55 จะเติบโตได้เพียง 2.4% จากที่ก่อนหน้านี้เคยประเมินไว้ที่ 3.4% เหตุที่ต้องปรับลดลงเนื่องจากปัญหาหลักที่ภาคการส่งออกของไทยยังทรุดตัว ในขณะที่ปัจจัยในประเทศอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภค และการลงทุน

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 5.3% ขณะที่ปี 56 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.6% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาดไว้ และทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ดังนั้นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อจากนี้ไปจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยจะเป็นการบริโภคภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/55 การส่งออกของไทยชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้เดิมมาก และยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวในเร็ววันเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยจึงไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกให้เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปีนี้รวมไปถึงในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าได้ ซึ่งหมายความว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก แต่มองว่าการบริโภคภาคครัวเรือนน่าจะยังขยายตัวได้ในระดับสูง การใช้จ่ายภาครัฐเติบโตดีขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายในโครงการต่างๆ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวได้ไม่มากนัก

"การใช้จ่ายในประเทศคงสามารถทดแทนเศรษฐกิจที่มาจากการผลิตเพื่อส่งออกได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัด เช่น นโยบายรถยนต์คันแรกช่วยทดแทนการส่งออกได้ แต่อาจเป็นเพียงการทำให้คนตัดสินใจซื้อรถในปีนี้แทนปีหน้าเท่านั้น จึง ไม่ได้เป็นการสร้างอุปสงค์ใหม่ขึ้นมามาก" นางสุทธาภา กล่าว

ด้านนางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าในไตรมาส 3/55 GDP จะขยายตัวได้ 3.5% ซึ่งปรับลงจากคาดการณ์เดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.9% ทั้งนี้เหตุที่ปรับลด GDP ลงเป็นผลสำคัญมาจากภาคการส่งออกและภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ หดตัวแรงกว่าที่คาดไว้

โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ภาคการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวลดลงในปีนี้มาจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปเป็นสำคัญ และทำให้การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ของไทยได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันการปัญหาวิกฤติยูโรโซน นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัย คือ ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา ในขณะที่การส่งออกข้าวลดลงมากกว่าปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่ราคาข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการใช้วัตถุดิบในภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ลดลงด้วยเช่นกัน

"เราเห็นตัวเลขรายเดือนจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เห็นผลกระทบจากภาคการส่งออกที่หดตัว และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวแรงกว่าที่คาดไว้เดิม จึงปรับลด GDP ไตรมาส 3 ลงมาเหลือ 3.5%" นางพิมลวรรณ กล่าว

ส่วนทั้งปี 55 คาดว่า GDP จะเติบโตได้ 5% โดยอาจเห็นสัญญาณของเศรษฐกิจต่างประเทศที่เริ่มดีขึ้นเล็กน้อยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีภาพที่เป็นบวกขึ้นบ้าง แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังต้องจับตากรณี Fiscal Cliff ในสหรัฐอเมริกา และการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรป ซึ่งถ้าทั้ง 2 เรื่องนี้ผ่านไปได้ด้วยดีก็จะเห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 56

นางพิมลวรรณ ยังมองว่าปี 56 เศรษฐกิจไทยจะโตได้ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 5% โดยที่การลงทุนของภาครัฐในโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการน้ำจะเป็นปัจจัยผลักดันการใช้จ่ายในประเทศ รวมกับการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ยังอยู่ภายใต้สมมติฐานด้วยว่าการเมืองภายในประเทศยังมีเสถียรภาพที่มั่นคงด้วย

"ส่วนสำคัญขึ้นกับการเบิกจ่ายในโครงการของภาครัฐ เราคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยหนุนในปีหน้า แต่ถ้าการเบิกจ่ายล่าช้า การทำโครงการน้ำ, ระบบขนส่งมวลชน หรือโลจิสติกส์สะดุดหรือมีการเบิกจ่ายล่าช้า ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคได้" นางพิมลวรรณ ระบุ

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/55 จะเติบโตได้ราว 5-5.5% โดยมีปัจจัยช่วยหนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่ไตรมาส 4/55 คาดว่าจะโตได้ 11% โดยภาคการบริโภค และภาคการลงทุนยังขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีมากซึ่งช่วยชดเชยความอ่อนแออย่างมากของภาคส่งออกได้

ส่วนการค้าระหว่างประเทศนั้นคาดว่าในปีนี้ไทยจะเกินดุลการค้าราว 5 พันล้านดอลลาร์ จากการเร่งตัวของการนำเข้าเพื่อการลงทุน ทั้งนี้ได้แนะว่าในนโยบายสินค้าเกษตรของรัฐบาลควรให้น้ำหนักกับด้านการบริหารต้นทุน การเข้าถึงปัจจัยการผลิต และการเพิ่มผลผลิตมากกว่านโยบายด้านราคา

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4/55 ให้จับตาผลของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษของธนาคารกลางสำคัญของโลก และแรงต้านมาตรการรัดเข็มขัดในกลุ่มยูโรโซน ตลอดจนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศในกลุ่มยูโรโซน รวมทั้งการปะทุขึ้นของวิกฤติหนี้สินยูโรโซนรอบใหม่

พร้อมกันนี้ ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 56 ว่ายังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 4-5% โดยที่การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเติบโตเพิ่มขึ้น ภาคส่งออกขยายตัวดีกว่าปี 55 แต่ยังไม่ฟื้นสู่ระดับเฉลี่ยปกติของไทย ทั้งนี้การท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยขยายตัวเพิ้มขึ้นจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวในเอเชีย

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี 56 ต้องจับตาผลกระทบจาก fiscal cliff ที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมาก อาจส่งผลให้มีการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก ซึ่งจุดนี้จะส่งผลให้เงินเก็งกำไรระยะสั้นไหลเข้าเอเชีย เงินสกุลเอเชียแข็งค่าและเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ทางการเงินบางประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ