นายกฯส.ชาวนาวอนรัฐรอบคอบตั้งเขตพิเศษค้าข้าวอาเซียน หวั่นซ้ำรอยรับจำนำข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 16, 2012 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมชาวนาข้าวไทย วอนรัฐบาลคิดและตัดสินใจให้รอบคอบ และควรหารือผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการจัดตั้งเขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียน หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าว แนะควรช่วยชาวนาในเรื่องของการตลาด และการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ยืนได้ด้วยตัวเองมากกว่าการอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบการจัดตั้งกลไกความร่วมมือตลาดข้าวอาเซียน (ในส่วนของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม และไทย) และการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดตั้งเขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียน (Rice Trade Zone : RTZ) โดยกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มีความสำคัญและมีความจำเป็นในการผลักดันการสร้างความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าข้าวของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนให้ได้รับการพัฒนาและเกิดผลเป็นรูปธรรม สร้างเสถียรภาพราคาข้าวในตลาดโลก เกิดความมั่งคงทางด้านอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน และป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย

"การตั้ง(เขตพิเศษฯ) ตรงนี้ต้องรอบคอบ ผมกลัวว่าตั้งแล้วภาคเกษตรจะได้อะไร เพราะทุกวันนี้ภาคเกษตรไทยเสียเปรียบอยู่แล้ว เราเป็นผู้ผลิตได้มากแต่ตลาดไม่มีที่ไป เช่น นโยบายของรัฐบาลจุดยืนคือประชานิยม ไม่ได้มองถึงความมั่นคง สร้างคุณภาพชีวิต หรือความยั่งยืนให้ภาคเกษตรเลย รัฐบาลเน้นการหาเสียงมากเกินไป ทุกวันนี้ข้าวไทยขายไม่ได้ เพราะราคาข้าวไทยสูงชนเพดาน แต่ประเทศอื่นขายได้ทั้งที่ตั้งราคาไม่สูงมาก ขายข้าวได้ แถมยังได้ประชานิยมจากภาคเกษตรกรอีกด้วย"นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ดังนั้น ขอให้รัฐบาลพิจารณาแนวนโยบายนี้อย่างรอบคอบ จะเป็นการดีถ้ามีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการข้าวไทยด้วยเพื่อให้มองเห็นประโยชน์ว่าประเทศไทยจะได้อะไรจากการจัดตั้งเขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียน

"นโยบายดีแต่กลัวเกิดพฤติกรรมเหมือนโครงการรับจำนำ นโยบายดีมาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ ทุกอย่างเป็นนโยบายที่ดีมาก แต่เมื่อดูพฤติกรรมคนและปัญหาที่เกิดตามมาทั้งเรื่องใบประทวน โกดังกลางไม่มีใส่ มีการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์รับจำนำ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของพวกพ้อง"นายประสิทธิ์ กล่าว

สำหรับกรณีชาวนาแห่ขายใบประทวน นายประสิทธิ์ ยอมรับว่ามีจริงๆ และเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่รับฐาลมีนโยบายรับจำนำข้าว เพราะชาวนาเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย การศึกษาน้อย และมักตกเป็นเครื่องมือของผู้แสวงหาผลประโยชน์ ลงทะเบียนไว้ 20 ตัน แต่ข้าวของตัวเองจริงๆมี 10 ตัน ที่เหลืออีก 10 ตันก็มีสิทธิ์ขายให้คนออกใบประทวนหรือขายให้พ่อค้าหรือนายทุน

ทั้งนี้ เสนอแนะให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องตลาด เรื่องการลดต้นทุนการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าเช่าที่นา เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตของชาวนาไทยอยู่ที่ประมาณ 5,000-7,000 บาท/ไร่ โดยเฉพาะแค่รัฐบาลประกาศนโยบายรับจำนำข้าวที่ราคา 15,000 บาท/ตัน นโยบายขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท ตอนนี้สินค้าทุกอย่างราคาขยับขึ้นไปรอแล้ว

"นี่ขนาดแค่รัฐบาลประกาศราคารับจำนำที่ 15,000 บาท ประกาศจะขึ้นค่าจ้าง 300 บาท แต่ทุกอย่างราคาขยับขึ้นไปรอแล้ว ค่าเช่านาเดิม 500 บาท/ไร่ ตอนนี้เป็น 1,000 บาท/ไร่....ถ้าจะช่วยต้องช่วยให้เกษตรกรยืนได้ด้วยขาของตัวเองมากกว่าเอาเงินมากองให้อย่างเดียว ช่วยให้เกษตรกร ชาวนาพัฒนาตัวเองมากกว่าที่จะรอการช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว"

นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ว่า ส่วนใหญ่จะกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวในภาคอีสาน ซึ่งคาดว่า ผลผลิตข้าวจะหายไปประมาณ 10% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศที่มีประมาณ 32 ล้านตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ