นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในงานสัมมนา"กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก"ที่จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ว่า ในปี 56 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5.2% จากปีนี้ที่เติบโต 5.5% ขณะที่สภาพัฒน์ คาดว่าจะเติบโต 4.5-5.5% และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดเติบโต 4.5% ส่วนราคาน้ำมันในปีหน้ามองที่ระดับ 100-105 เหรียญ/บาร์เรล
"ภาพเศรษฐกิจปีหน้าถือว่าพอใช้ได้ ยังไปข้างหน้าได้"นายคณิศ กล่าวแม้ว่าปีหน้าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ชะลอตัว แต่ สหรัฐก็ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยุโรปก็มีแผนรัดเข็มขัด ซึ่งเห็นว่าวิธีนี้ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ควรกระตุ้นเศรษฐกิจแทนจะได้ผลดีกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีหน้าคงจะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่ภาพประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่
นายคณิศ กล่วว่า ไทยถือว่ามีภูมิศาสตร์เศรษฐกิจที่ดีที่เชื่อมต่อกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งประเทศในแถบนี้มีเศรษฐกิจเติบโต 5% ซึ่งประเมินบนข้อมูลที่ไม่ได้รับแน่ชัด และประเทศในอาเซียนก็มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ 5-6% รวมไปถึงประเทศจีน หลังเปลี่ยนผู้นำใหม่ คาดว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโตหวือหวา แต่จะเน้นการปรับโครงสร้าง โดยมองว่าในปีหน้าจะเติบโตราว 8.5%
และเห็นด้วยว่าประเทศไทยควรเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้ลงทุนมา 7 ปีที่แล้ว ในขณะนี้ช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กนั้นภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนจัดการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและเล็กไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งควรจะมีข้อมูลการลงทุน กฎระเบียบของประเทศเพื่อนบ้าน และควรมีมาตรการภาษี หรือจัดแพ็กเกจไปลงทุนเพื่อจูงใจให้ธูรกิจไทยลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
ด้านนายธีรวุฒิ ศรีพินิจ ผู้อำนวยการ สัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ประมาณ 42% ของจีดีพี ยังไม่รวมหนี้เอกชนและสถาบันการเงิน ขณะที่ สหรัฐมีหนี้สาธารณะ 100% ของจีดีพี และ ญี่ปุ่น มีหนี้สาธารณะ 200% ของจีดีพี ซึ่ง หนี้สาธารณะจะเป็นปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติเช่นเดียวกับกรีซ
ที่ผ่านมา ไทยมีการจ่ายคืนเงินต้นน้อยมาก และคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะอาจจะไปถึง 50% ของจีดีพี ถ้าภาครัฐไม่ดำเนินการใดๆ โดยรอการเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงปีหน้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกที่การเติบโตเศรษฐกิจทั้งไทย สหรัฐ ยุโรป และจีน ลดลง รวมทั้งญี่ป่น ขณะที่การส่งออกไทยก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องปีนี้ ขณะเดียวกันก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยไทยใน 1-2 ปีข้างหน้าคงไม่สูงมากนักตามภาวะตลาดโลก เพราะหลายประเทศกดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ภาครัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ใน 7 ปีนี้ จะมีโอกาสทำให้เศรษฐกิจเร่งตัวใน 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดการสร้างงาน การเติบโตภายในประเทศแทนเศรษฐกิจภายนอก และต้นทุนโลจิสติกส์ก็จะต่ำลงมาที่ระดyบ 10-12% จาก 18% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจัยการเมืองก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศในปีหน้า ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวรับมืออย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายกับธุรกิจขนาดเล็ก จนอาจต้องเลิกกิจการไป เรื่องนี้ก็ต้องหารือร่วมกัน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคากรุงเทพ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีที่ธุรกิจไทยจะขยายการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการขยายธุรกิจไปอาเซียนไปหาพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โอกาสเปิดเต็มที่ในช่วงที่ประชาคมเศรษฐกืจอาเซียน(AEC) จะเกิดขึ้นในปี 58 ซึ่งยังถกเถียงกันว่าจะเริ่มช่วงต้นปีหรือปลายปี แต่ที่น่าเสียดายธุรกิจไทยไม่มีโครงสร้างช่วยเหลือเอกชน ไม่เหมือนกับญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ตัวเลขที่ไทยค้าขายกับกลุ่ม CLMV ถือเป็นตลาดใหญ่ของไทย ซึ่งอนาคตสามารถทดแทนตลาดสหรัฐได้ ทั้งนี้สินค้าที่มาจากไทยได้รับการยอมรับในตลาด CLMV หากสามารถปักหัวหาดรอบนี้ได้ก็จะกินยาวไปหลายปี แต่หากพลาดโอกาสลงทุนก็จะทุกข์หลายปีเช่นกัน