รายงาน กนง.ระบุเหตุคงดอกเบี้ยมองศก.ไทยยังเสี่ยงด้านขยายตัวมากกว่าเงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2012 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 8/2555 วันที่ 28 พ.ย.55 ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

กนง.เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวได้ดีกว่าคาด และช่วยชดเชยผลลบจากเศรษฐกิจโลก ส่วนหนึ่งจากการส่งมอบรถยนต์คันแรกได้เร็ว และการลงทุนเพื่อการซ่อมสร้างที่มีมากกว่าคาด สอดคล้องกับทิศทางการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ยังขยายตัว ขณะที่ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกยังจำกัดอยู่ในภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก โดยคาดว่าการส่งออกจะปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 56 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ในระยะต่อไปการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือน การจ้างงาน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดี และภาวะการเงินของประเทศที่ยังผ่อนปรน สินเชื่อขยายตัวสูง อนึ่ง คณะกรรมการฯ ให้ข้อสังเกตว่า ประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ผ่านมาชี้ว่า การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจสะสมความเปราะบางแก่ระบบเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้เฝ้าติดตามการขยายตัวของสินเชื่อในบางภาคที่เติบโตในอัตราที่สูงอย่างใกล้ชิด ซึ่งในกรณีจำเป็น ธปท.ก็ยังมีมาตรการ Macroprudential ที่สามารถใช้ดำเนินการเพิ่มเติมได้

ภาพรวม กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 และ 56 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ภาคส่งออกจะกลับมามีบทบาทต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 56 หากอุปสงค์ในประเทศชะลอลงหลังจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐสิ้นสุดลง ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อในปี 55 และ 56 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน

การพิจารณานโยบายการเงินที่เหมาะสม คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ แม้ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกจะปรับลดลงบ้างแต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มาก ภายใต้สมดุลความเสี่ยงดังกล่าว นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนยังมีความจาเป็นและเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

คณะกรรมการฯ ได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินนโยบายการเงินครั้งนี้ และมีข้อสรุปดังนี้ เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีสัญญาณปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดชี้ถึงอุปสงค์ในประเทศที่ดีกว่าคาด ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไปได้ดีและมีแรงส่งต่อเนื่อง แม้ตัวเลขการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่แรงส่งของเศรษฐกิจในประเทศจะสามารถรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมาช่วยรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกไประดับหนึ่งแล้ว

ภาวะการเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับผ่อนปรนเพียงพอต่อความจ่าเป็นของเศรษฐกิจ สะท้อนจากสินเชื่อภาคเอกชนที่ยังสามารถขยายตัวสูงต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเอื้อต่อการลงทุนและการบริโภคในประเทศ และแม้เศรษฐกิจโลกจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะเลวร้ายลงยังมีอยู่ จึงควรรักษาทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงิน (policy space) เอาไว้ก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

และ ในภาวะที่สินเชื่อในภาพรวมยังขยายตัวสูง โดยเฉพาะสินเชื่อภาคครัวเรือนบางประเภท และสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจจะเป็นการสะสมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินได้

กนง.มองว่า ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปและความพยายามในการเจรจาเพื่อต่ออายุมาตรการกระตุ้นภาคการคลัง (fiscal cliff) ของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับดีขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศหลักปรับสูงขึ้น และสกุลเงินหลักแข็งค่าขึ้น ยกเว้นเงินเยนที่อ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมภายหลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ขณะที่เงินทุนไหลเข้ามายังตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในภูมิภาคเริ่มชะลอลง สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ สอดคล้องกับค่าเงินสกุลภูมิภาค

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นถึงระยะกลางปรับลดลง ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงในการประชุมครั้งก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นจากปริมาณพันธบัตรรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนที่มากกว่าตลาดคาดไว้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินให้กู้ยืมลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ทั้งนี้ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีเสถียรภาพและมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่คาด และชี้ถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมีแรงส่งที่ดี ภาคที่อยู่อาศัยและการจ้างงานที่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรยังหดตัว แต่คาดว่าภาวะเศรษฐกิจการเงินจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปีหน้า จากแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกหลักที่ยังขยายตัวได้

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปและการต่ออายุมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และเป็นความเสี่ยงสาคัญของเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องติดตามต่อไป เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าตามการส่งออก การบริโภคและการลงทุนในประเทศ สาหรับเศรษฐกิจจีน ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดชี้ว่าการลงทุน การบริโภค การผลิต และการส่งออกปรับดีขึ้น สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 และในปีหน้า

สำหรับเศรษฐกิจเอเชียมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของการส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ให้ข้อสังเกตว่า การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามารถขยายตัวได้ดี แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สะท้อนว่าบทบาททางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านต่อไทยจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณที่ดีขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เพื่อรอประเมินความชัดเจนของพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ