(เพิ่มเติม) สศอ.คาด GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 56 โต 4.0-5.0% ดัชนี MPI ขยายตัว 3.5-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 27, 2012 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ตัวเลข GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 56 เติบโต 4.0-5.0% ขณะที่คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) จะขยายตัว 3.5-4.5%

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมรายสาขาปี 56 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าจะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน โดยเพิ่มขึ้น 4.16% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตลาดส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีและทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยจะมาจากรถยนต์อีโคคาร์ที่จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์จากนโยบายรถคันแรก คาดว่าจะมีการผลิตและส่งมอบประมาณ 40%, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ได้รับแรงสนับสนุน จากการขยายตัวของภาคก่อสร้างทั้งโครงการจากภาครัฐ และภาคเอกชน ที่กระจายตัวตามภูมิภาค และกลุ่มประเทศอาเซียน, อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และกรอบข้อตกลง FTA ที่มีส่วนผลักดันให้การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น, อุตสาหกรรมเซรามิก เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้เซรามิก ในการปูพื้นบ้านมากขึ้น และตลาดส่งออกยังมีการขยายตัว เช่น ญี่ปุ่น อาเซียน จีน และธุรกิจก่อสร้าง มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น, อุตสาหกรรมยา ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมในการหาซื้อยาใช้เองมากขึ้น และผู้ประกอบการไทย นักลงทุนต่างชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ให้ความสนใจที่จะร่วมทุนในไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและการตลาดยา ในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตคงที่ คือ อุตสาหกรรมอาหาร แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนการผลิต ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท, อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลาดในอาเซียนยังมีความต้องการใช้เหล็กเป็นจำนวนมาก โดยปัจจัยเสี่ยง คือ ตลาดเหล็กในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันจากเหล็กนำเข้าที่มีราคาถูก, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง Semiconductor Industry Association(SIA) ของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลกในปี 56 จะมีการขยายตัว 4.5% ปัจจัยเสี่ยงมาจาก วิกฤติหนี้ยุโรป ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น, อุตสาหกรรมไม้และเครื่องไม้ขยายตัวได้ดี แต่ยังขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศจนไม่สามารถรองรับความต้องการในด้านปริมาณและคุณภาพได้จึงต้องเร่งหาแหล่งวัตถุดิบใหม่จากลาว พม่า อินโดนีเซีย และผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐ, อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะเป็นโอกาสของการขยายตลาดที่ดีในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC แต่ต้องจับตามองเนื่องจากยอดการใช้กระดาษในกลุ่มนี้มีการเติบโตที่ลดลง อันเป็นผลพวงจากสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามาแทนที่ 50-60% , อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศลดต่ำลง โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากจะมีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการผลิตที่สูง ในขณะที่ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า บังกลาเทศ ศรีลังกา มีความความแข็งแกร่งด้านการผลิตเพิ่มขึ้น, อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังโดยกลุ่มผู้ประกอบการ SME 20-30% ไม่สามารถปรับตัวกับการแข่งขันที่สูง ประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน และการขาดแคลน วัตถุดิบหนังโคและกระบือ

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมสูงที่สุด 19.17% เนื่องจากจะทำให้สัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 24.44% โดยมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 7.73% รองลงมา คือ อุตสาหกรรมอาหารที่ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 6.12%

ทั้งนี้แนวทางในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม คือ การขึ้นราคาสินค้า (หรือคงราคาแต่ลดปริมาณต่อหน่วย) การย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า หรือลดการจ้างงาน หากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ หรือไม่สามารถปรับตัวดังที่กล่าวมาแล้วได้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะลดลง 1.09% จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1.57% การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง 0.79% ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรม (จีดีพี) ลดลง 0.97% และการจ้างงานรวมลดลง 3.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ