ผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ยัน EMS ไม่ใช่โรคระบาด ยันเกิดจากการเลี้ยง เชื่อไม่กระทบอุตฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2013 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย ฤกษ์โภคี ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในพื้นที่เลี้ยงกุ้งของสุราษฎร์ฯ ยังไม่เกิดการระบาดของโรคโรคอีเอ็มเอส หรือโรคตายด่วนในกุ้ง และเชื่อว่าสาเหตุของการเกิดโรคนี้น่าจะมาจากการจัดการเลี้ยง ซึ่งแหล่งที่เกิดโรคนี้ ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย จีน และภาคตะวันออกของไทย ล้วนมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมฯ ที่มีการหมักหมม ปนเปื้อน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ชมรมฯ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทยได้จัดสัมมนาผู้เลี้ยงกุ้งด่วนเพื่อป้องกันการเกิดโรคมีการวางแผนจัดการเลี้ยงกุ้งอย่างดี และเข้มแข็ง

"ถึงวันนี้ไม่ปรากฎว่ามีการเกิดโรคนี้ขี้น ที่สำคัญหากเป็นเพราะลูกกุ้งจริงภาคใต้คงไม่รอด รวมถึงพื้นที่อื่นๆ คงไม่รอดจากการเป็นโรคนี้กันแล้ว แต่ขณะนี้ที่สุราษฎร์ฯเอง แถวพื้นที่เลี้ยงภาคใต้ฝั่งอันดามันเอ ตอนนี้ยังไม่มีโรคนี้ปรากฎ"นายสมชาย กล่าว

สำหรับปี 2556 นี้ อยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งช่วยกันประคับประคอง เลี้ยงให้รอดให้ปลอดภัย ขณะเดียวกันขอบคุณกรมประมงที่พยายามช่วยให้มีการคลี่นนิ่งระบบโรงเพาะฟักลูกกุ้ง แต่อยากให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีการคลิ่นนิ่งระบบเลี้ยงด้วย อย่าให้มีการหมักหมม โดยเฉพาะพื้นบ่อต้องสะอาด ให้มีการจัดการเลี้ยงที่ดี มีระบบป้องกันโรคไบโอซีเคียวที่เข้มแข็ง...เชื่อว่าหากมีการปรับปรุงระบบการผลิต การเลี้ยง การจัดการ ด้วยความรับผิดชอบแล้ว ของแฮชเชอรรี่ และบ่อเลี้ยง แม้ภาพรวมของอุตฯอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ระยะยาวคือความมั่นคงยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทย

ด้านนายธีรยุทธ ถนอมเกียรติ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อยากให้ผู้เลี้ยงให้ความสำคัญกับทุกปัจจัย ทำหรือเตรียมทุกขั้นตอนให้ดี บ่อต้องสะอาด น้ำต้องสะอาด ต้องมีระบบไบโอซีเคียวที่ดีและรัดกุม ป้องกันโรคอย่างเต็มที่

"เชื่อว่าการเกิดโรคตายด่วนไม่น่าจะเป็นปัญหาร้ายแรงของอุตสาหกรรม เพราะจัดการได้ อยู่ที่การจัดการที่ดี อยู่ที่ EMS เหมือนกัน แต่เป็น Excellent Management System หรือการที่ผู้เลี้ยงต้องมีระบบการจัดการเลี้ยงที่เป็นเลิศ"นายธีรยุทธ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ