ส.อ.ท.เสนอ 7 มาตรการให้ธปท.เยียวยาผู้ประกอบการ ลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 25, 2013 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้สำรวจข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรม 25 กลุ่ม และอีก 2 องค์กรการค้า เกี่ยวกับผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากเงินบาทแข็งค่าขึ้น พบว่า 40% ของกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเครื่องสำอาง, เซรามิก, รองเท้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อีก 28% จากกลุ่มอุตสาหกรรม ในกลุ่มน้ำมันปาล์ม, เฟอร์นิเจอร์, ชิ้นส่วนยานยนต์ ระบุว่าได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากขายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และอีก 32% จากกลุ่มอุตสาหกรรมก๊าซ, ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์, พลังงานทดแทน, ยา และพลาสติก ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบกับรายได้

ทั้งนี้ มีการเปรียบเทียบการแข็งค่าของค่าเงินมิภาคและประเทศคู่แข่ง โดยไทยแข็งค่าขึ้น 3.13% รองลงมาคือ อินเดีย 2.40% เกาหลีใต้ 2.35% มาเลเซีย 2.20% ฟิลิปปินส์ 1.62% เวียดนาม 0.66% ใต้หวัน 0.45 % จีน 0.40% อิโนนีเซีย 0.05% ขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคที่มีค่าเงินอ่อนค่า เช่น ฮ่องกง -0.03% สิงค์โปร์ -0.58% บรูไน -0.67% และญี่ปุ่น -6.88%

อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบการแข็งค่าของเงินบาทข้างต้น ไทยเป็นประเทศที่มีเงินบาทแข็งค่าที่สุดในเอเชีย ซึ่ง ส.อ.ท. มองว่าจะทำให้อุตสาหกรรมของไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงได้เสนอ 7 มตราการในการดูแลค่าเงินที่แข็งค่า ประกอบด้วย

1.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน โดยแนะให้แบงค์ชาติเข้ามาดูแลให้เป็นพิเศษในช่วงนี้ 2.ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย 3.เร่งแก้เงื่อนไขการถือครองเงินตราต่างประเทศ

4.ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงมาตราการการดูแลค่าเงิน โดยให้ธนาคารพาณิชย์ หรือ Exim Bank ลดวงเงินในการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน 5.แยกบัญชีวงเงินสินเชื่อไม่ให้เงินส่วนนี้มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนในช่วงนี้ 6.ส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยเร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และให้ BOI กำหนดมาตรการส่งเสริมดังกล่าวมีแรงจูงใจมากขึ้น 7.เร่งการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน เนื่องจากช่วงที่เงินบาทแข็งเป็นช่วงที่เหมาะสมมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ