In Focusญี่ปุ่นกับฉายาผู้ก่อสงครามค่าเงิน หลังมาตรการ BOJ ทุบเงินเยนดิ่งเหว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 30, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ย้อนไปในช่วงปี 2540 เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ลืมฝันร้ายในนามของวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีที่มีนโยบายการเงินเป็นของตัวเองจนสามารถจัดฉาก "ยุทธการโจมตีค่าเงินบาท" เป็นเหตุให้ระบบเศรษฐกิจของไทยและประเทศต่างๆทั่วเอเชียสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง

ถัดมาในปี 2550 ตลาดการเงินทั่วโลกต้องถึงคราวระส่ำระสายอีกครั้งเมื่อนักลงทุนกลุ่ม "carry trade" ที่เข้ามาเล่นแร่แปรธาตุในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ นักลงทุนกลุ่มนี้จะกู้ยืมเงินในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าในประเทศของตนเอง และนำเงินนั้นไปทุ่มซื้อสกุลเงินหรือสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง กระแสการทำ carry trade ส่งผลให้ค่าเงินทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก เนื่องจากหนึ่งในปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดค่าเงินก็คือส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย

มาจนถึงปี 2553 - 2555 รัฐบาลทั่วโลกต้องปวดหัวอีกครั้งกับ "ปรากฎการณ์ QE" เมื่อชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐหันมาใช้ยุทธศาสตร์เหล้าใหม่ในขวดเก่าที่ชื่อ "มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)" ซึ่งศาตราจารย์รอน แม็คคินน่อน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศมองว่า QE เป็นมาตรการที่นำไปสู่ความล้มเหลวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยในสหรัฐและประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เงินทุนไหลทะลักเข้าสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ และจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจนน่ากลัว

... และในปี 2556 นี้ เหตุการณ์ที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูกันอย่างใจจดใจจ่อคือ โครงการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หลังจากที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นสามารถแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลางได้สำเร็จ ภายหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากไพโอเนียร์ อิสเวนต์เมนท์ของอังกฤษ กล่าวว่า การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น เป้าหมายหลักคือ "กดเงินเยนให้อ่อนค่าลง" เพื่อหวังผลด้านการส่งออก เนื่องจากภาคการส่งออกเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ต้องหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจญี่ปุ่นเอาไว้ทั้งระบบ แต่การกดเงินเยนให้อ่อนค่าลงด้วยวิธีนี้กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศคู่แข่งของญี่ปุ่น และในเวลานี้คงไม่มีประเทศใดที่ได้รับผลกระทบมากไปกว่า "เกาหลีใต้" ซึ่งส่งออกสินค้าในกลุ่มเดียวกันกับญี่ปุ่น ไล่ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสินค้าชิ้นใหญ่อย่างรถยนต์

เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นยังรั้งแชมป์เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเกาหลีใต้ ตามมาในอันดับ 5 ทั้งสองประเทศถือเป็นคู่แข่งที่ไล่บี้กันมาอย่างสูสีในตลาดส่งออก ด้วยเหตุนี้ การอ่อนค่าลงอย่างหนักของเงินเยนในช่วงนี้ จึงทำให้สมรภูมิการแข่งขันดุเดือดจนไม่อาจละสายตาได้

ข้อมูลเชิงสถิติระบุว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 เงินวอนแข็งค่าขึ้นไปแล้วประมาณ 26.6% เมื่อเทียบกับเงินเยน ซึ่งทำให้ราคาสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้แพงขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าญี่ปุ่น ราคาสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้มีราคาแพงขึ้นไปอีกมากเมื่อบีโอเจอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และสถานการณ์ด้านส่งออกของเกาหลีใต้ย่ำแย่หนักมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต เมื่อบีโอเจประกาศในการประชุมครั้งล่าสุดว่าจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบปลายเปิดหรือแบบไม่จำกัดวันสิ้นสุดโครงการ

แองเจโล คอร์เบตตา ผู้เชี่ยวชาญจากไพโอเนียร์ อินเวสต์เมนท์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์วอลลสตรีท เจอร์นัลว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินวอนและค่าเงินเยนที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ความมั่งคั่งของอุตสาหกรรมยานยนต์เกาหลีกำลังจะถูกเปลี่ยนถ่ายไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่น ด้านธนาคารเครดิต สวิส คาดการณ์ว่าทุกๆ 1% ที่เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินวอนเกาหลีใต้ จะส่งผลให้ภาคการส่งออกของเกาหลีใต้ต้องตามหลังญี่ปุ่นถึง 1.1% เนื่องจากสินค้าเกาหลีจะมีราคาแพงขึ้นและฉุดให้ประสิทธิภาพในการแข่งขันลดลง

ด้านเกาหลีใต้เริ่มส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับศึกครั้งนี้ รวมถึงการวางแผนจำกัดปริมาณการซื้อขายสัญญาแลกเปลี่ยนล่วงหน้าของธนาคารต่างๆ ในประเทศ เพื่อจำกัดการเก็งกำไรค่าเงิน ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบของผู้ส่งออกจากภาวะเงินวอนแข็งค่า อาทิ การตั้งกองทุนช่วยเหลือ และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

นักวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยยานยนต์เกาหลียอมรับว่า บริษัทรถยนต์ของเกาหลีใต้กำลังสูญเสียประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาท้าทาย 2 ด้านไปพร้อมๆกัน คือปัญหาค่าเงิน และการที่ค่ายรถญี่ปุ่นกำลังใช้ความได้เปรียบนี้ปรับยุทธศาสตร์การตลาดให้แข็งแกร่งขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือบริษัท เกีย มอเตอร์ส บริษัทรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้ที่มีผลกำไรสุทธิไตรมาส 4/2555 ทรุดฮวบลงถึง 51% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2554

หันมาฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญฝั่งของไทยเราบ้าง ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวให้สัมภาษณ์กับ ซือ เสี้ยนเจิน ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหัวเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า สงครามค่าเงินที่กำลังส่อเค้าลางอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งความพยายามของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจบางประเทศที่เตรียมใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อลดยอดขาดดุลในประเทศของตนเองนั้น อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินรอบสอง

ดร.สมภพกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า การเผชิญหน้ากันในเรื่องสกุลเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะเดียวกัน ดร.สมภพกล่าวว่า หลายประเทศได้อัดฉีดเงินทุนเพิ่มขึ้นเข้าสู่ตลาดการเงินภายใต้มาตรการ QE ในขณะที่ประเทศอื่นๆรู้สึกวิตกกังวลว่าการแข็งค่าของสกุลเงินในประเทศของตนเองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

"หากประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกทำในสิ่งเดียวกัน ผมก็คิดว่านี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะปัญหาฟองสบู่จะยิ่งส่งผลให้ภาวะไร้สมดุลทางการค้าทั่วโลกขยายวงกว้างออกไปอีก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินระลอกสองที่จะรุนแรงยิ่งกว่าช่วงเกิดวิกฤตในตลาดซับไพร์ม" ดร.สมภพกล่าว
ดร.สมภพกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐและญี่ปุ่นนั้น เห็นได้ชัดว่าการกดค่าเงินให้อ่อนลงไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาภาวะขาดดุลการค้า
"เมื่อ 40 ปีที่แล้ว อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนกับดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 350 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 80 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ แต่สหรัฐก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นได้ การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยญี่ปุ่นนั้น เราควรจะลดพึ่งพาการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ และหันมามุ่งเน้นตลาดภายในประเทศเพื่อเป็นทางออกให้กับภาคการผลิต" ดร.สมภาพกล่าว

เราคงต้องจับตาท่าทีของญี่ปุ่นต่อไปว่า จะสะทกสะท้านกับการถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อสงครามค่าเงินระลอกใหม่หรือไม่ ในขณะที่เนเดอร์ นาเอมิ นักวิเคราะห์จากเอเอ็มพี แคปิตอลในออสเตรเลีย กล่าวว่า ญี่ปุ่นอาจจะต้องคงนโยบายเงินเยนอ่อนค่าไปอีกระยะยาว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะบริษัทผลิตรถยนต์ ซึ่งหากเป็นจริงดังคำคาดการณ์ เราคงได้เห็นสงครามค่าเงินที่ดุเดือดแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ