TMB เผยดอกเบี้ยไม่ใช่ตัวหลักชี้นำค่าบาท มองปัจจัยตปท.มีบทบาทมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 22, 2013 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ประเมินอัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่ใช่ตัวชี้นำหลักเพียงหนึ่งเดียวของค่าเงินบาท แนะผู้ส่งออก-นักลงทุนใช้ TFEX เป็นทางเลือกหนึ่งปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ในการประชุมวันที่ 20 ก.พ. ด้วยมติ 6 ต่อ 1 เสียง ทานกระแสเรียกร้องจากบางฝ่ายให้ลดดอกเบี้ย ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวไร้ทิศทางในช่วงหลังแถลงข่าวผลการประชุม และกลับมาปิดตลาดแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ร้อยละ 0.07 เทียบกับวันก่อนหน้า แต่ไม่ได้แข็งค่ารุนแรงอย่างที่บางฝ่ายเป็นกังวล แต่ต่อมาในเช้าวันที่ 21 ก.พ. เงินบาทกลับอ่อนค่าลงหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ประกาศรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 29-30 ม.ค.มีสาระสำคัญว่าเฟดอาจปรับลดหรือหยุดการเข้าซื้อสินทรัพย์เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ เป็นปัจจัยเสริมค่าเงินดอลลาร์และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงไปพร้อมๆ กัน

TMB Analytics มองว่าค่าเงินบาทมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น และประเมินว่าแม้ กนง.จะเลือก "หั่น" แทนการคงดอกเบี้ยก็อาจไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้จริงตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศกล่าวไว้ เนื่องจากเงื่อนไขทฤษฎีไม่ได้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริงไปทั้งหมด เช่น ทฤษฎีสมมติให้เงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ปราศจากการแทรกแซงจากธนาคารกลาง

ถ้าเราหันกลับมาพิจารณาการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อดอลลาร์ ในอดีตก็จะพบว่าโดยภาพรวมนั้นมีการเคลื่อนไหวสวนทางกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย กล่าวคือ เมื่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ แคบลง จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น(บาทอ่อนค่า)

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับค่าเงินบาทกลับวิ่งสวนทางกันน้อยลง จากเดิมที่สวนทางกันร้อยละ 89 ในปี 2553 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5 ในปี 2554 ส่วนในปี 2556 กลับพบว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยนวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน กลับตาลปัตรจากทฤษฎีอย่างชัดเจน

"การที่ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยฉีกจากทฤษฎีนี่เอง ที่ทำให้ TMB Analytics มองว่าค่าเงินบาทอาจจะถูกชี้นำจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศน้อยลง และอ่อนไหวกับปัจจัยในตลาดการเงินโลกมากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ดังนั้น ในยุคบาทผันผวนเช่นในปัจจุบัน ผู้ประกอบการและนักลงทุนอาจหันมาให้ความสนใจกับการจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ด้วยการใช้นวัตกรรมทางการเงินที่ปัจจุบันเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทางเลือกหนึ่ง คือ สัญญาซื้อขายดอลลาร์ล่วงหน้า(USD Futures)ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของไทย (TFEX) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถจะซื้อหรือจะขายเงินดอลลาร์ในอนาคต ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้านับตั้งแต่ทำสัญญา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ