ก.เกษตร หนุนอ.ส.ย.ลุยธุรกิจยางครบวงจรรองรับตลาดในปท.-ตปท.หวังยกระดับรายได้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 26, 2013 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราและอบแห้ง จ.นครศรีธรรมราชว่า การก่อสร้างโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราและอบแห้ง ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็ง ดำเนินธุรกิจครบวงจรทุกระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมผลักดันการใช้ยางภายประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูป ในการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านนายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ย. กล่าว ว่า อ.ส.ย. มีพื้นที่ปลูกยางพันธุ์ดี จำนวน 41,000 ไร่ มีการโค่นต้นยางเพื่อทำการปลูกแทนใหม่ปีละ 1,000 - 1,500 ไร่ การขายไม้ยางของ อ.ส.ย. ได้ดำเนินการโดยใช้วิธีการประมูลขายให้แก่บริษัทเอกชน และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าไม้ยางพารา อ.ส.ย. จึงจัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราและอบแห้งขึ้นเอง ที่ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยใช้งบประมาณลงทุนประจำปีงบประมาณ 2553 ของ อ.ส.ย. เพิ่มเติม ในวงเงิน 14.17 ล้านบาท โดยให้จัดทำเป็นแผนการลงทุนระยะยาว เพื่อให้สามารถติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเป็นฐานในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้ โดยมีกำลังการผลิต 1,200 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ 120 ตัน และควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานโดยแปรรูปไม้ยางคุณภาพ เกรด A, B 45% เกรด C 55% โดย อ.ส.ย. จะมีวัตถุดิบจากสวนยางใช้ในการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นศูนย์กลางของแหล่งวัตถุดิบไม้ยางแปรรูป เป็นการเพิ่มรายได้ของ อ.ส.ย. ในการประกอบธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราและอบแห้ง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางจากการขายต้นยางพาราให้กับโครงการฯ เป็นการสนับ สนุน พัฒนาฝีมือแรงงาน และเทคนิคการผลิตให้ทันสมัย สามารถ แข่งขัน เพื่อยกระดับราคาและคุณภาพ ตลอดจนสร้างอาชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในพื้นที่บริเวณก่อสร้างโรงงานฯ ได้ในอนาคต

ปัจจุบันยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อีกทั้งเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก และมีการนำไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของไม้ยางพาราเกิดขึ้นในประเทศเป็นจำนวนมากอย่างครบวงจร ประกอบด้วย อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยางพารา อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจไม้ยางพาราแปรรูป และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องเรือน และผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยไม้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ยางพารา จะส่งออกถึงร้อยละ 65 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 35 จำหน่ายภายในประเทศ วัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป คือ ไม้ยางพาราที่มีอายุมากซึ่งให้ปริมาณน้ำยางต่ำ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการกรีดน้ำยาง ทำให้เกษตรกรต้องโค่นต้นยางพาราแล้วปลูกทดแทน โดยมีการตัดโค่นไม้ยางพาราเพื่อปลูกทดแทนปีละประมาณ 300,000 ไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ