เอกชนคาดบาทแข็งเริ่มเห็นผลกระทบส่งออก Q2/56 นักวิชาการมองปีนี้อาจหลุด 29 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 14, 2013 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอกชนชี้บาทแข็งพ่นพิษส่งออกไทยแน่ตั้งแต่ไตรมาส 2/56 ห่วงสินค้าเกษตร-อาหารอ่วม ขณะที่รถยนต์-ชิ้นส่วนอะไหล่รับอานิสงส์ไปเต็มๆ แนะรัฐยื่นมือช่วย SMEs อย่างจริงจังไม่ต้องห่วงรายใหญ่ที่ยังบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ พร้อมมองมูลค่าส่งออกปีนี้อาจพลาดเป้า ด้านนักวิชาการเชื่อบาทแข็งลากยาวทั้งปี มองมีโอกาสหลุด 29 บาท/ดอลลาร์ช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังไร้สัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเผชิญสภาพเงินบาทแข็งค่ามาตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.56 โดยพบว่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว สวนทางกับค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่า จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับญี่ปุ่นมีความยากลำบากในการเสนอราคาสินค้า และเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตที่ใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าอาหาร

"ความแข็งค่าจะเป็นอุปสรรคต่อภาคการผลิตที่ใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในประเทศเยอะๆ เช่น สินค้าเกษตร อาหารจะลำบากมาก เพราะอาศัยวัตถุดิบในประเทศที่ต้องใช้เงินบาทซื้อ แต่ไปขายต่างประเทศในรูปของดอลลาร์ซึ่งมีความแตกต่างในอัตราแลกเปลี่ยนสูงมาก"

อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ปัญหาเงินบาทแข็งค่าจะยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจนต่อภาคการส่งออก เนื่องจากการส่งออกในช่วงนี้มาจากคำสั่งซื้อที่มีไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นชัดเจนต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป เพราะผู้ประกอบการจะมีปัญหาเรื่องการกำหนดราคาขาย เนื่องจากถ้ากำหนดราคาขายโดยเผื่อการขาดทุนก็จะทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นในสายตาของผู้บริโภค

แต่ทั้งนี้ ในทางกลับกันกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์กลับได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ทำให้ได้ราคานำเข้าวัตถุดิบถูกลง

นายไพบูลย์ มองว่า ทิศทางที่เงินทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาในไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้, ตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่สัดส่วนของการลงทุนทางตรงที่จะไปช่วยเรื่องการสร้างงานนั้นยังมีน้อยโดยไม่ถึง 20%

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศใหญ่อื่นๆ จึงทำให้มีเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในไทยมากขึ้น แม้รัฐบาลจะพยายามเดินหน้าออกไปโรดโชว์ในหลายประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นที่แท้จริงแล้วเป็นการเข้ามาเพื่อหวังเก็งกำไรมากกว่าการเข้ามาลงทุนเพื่อให้เกิดการสร้างงานในประเทศ

"ตั้งแต่ ม.ค. บรรดาผู้รู้ที่อยู่ในวงการเงินก็บอกแล้วว่าเป็นการเข้ามาเก็งกำไรมากกว่าที่จะมั่นใจในพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นเพียงคำสวยหรูเท่านั้น ที่จริงแล้วเขาเข้ามาเพราะรู้ว่าเอาเงินต่อเงินแล้วได้กำไร แต่เราเป็นประเทศเปิดเสรี ต้องการเงินไหลเข้ามาเยอะๆ เพื่อการลงทุน การจะไปสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาคงทำไม่ได้ แต่ถ้าจะให้เงินเข้ามาแล้วพักไว้อย่างน้อย 1 ปีค่อยนำออกไป ก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นการไปทำลายระบบของตลาดหลักทรัพย์" นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ มองว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ 8-9% นั้น เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งหากจะให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวจะต้องมียอดการส่งออกในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่การส่งออกในเดือนม.ค.ที่ผ่านมายังทำได้เพียง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น และเชื่อว่าตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปคงจะเห็นผลกระทบต่อการส่งออกอย่างชัดเจนจากปัญหาบาทแข็งค่า

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่ 12 มี.ค.56 ลงไปแตะที่ระดับ 25.57 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เดือน พ.ย.54 ในส่วนของผู้ประกอบการเองไม่ได้มีความกังวลว่าเงินบาทจะแข็งค่าไปที่ระดับเท่าใด แต่สิ่งที่กังวลมีอยู่ 2 ส่วน คือ การแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญในการส่งออกของไทย โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม

"บาทจะแข็งไป 29 บาท 28 บาท หรือ 27 บาท/ดอลลาร์ ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่อย่าแข็งค่าหรืออ่อนค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง และอย่าแข็งค่าหรืออ่อนค่าเร็วกว่าประเทศคู่แข่งมากจนเกินไป นี่คือ 2 ประเด็นสำคัญที่เรา concern"นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 8-9% ที่มูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์นั้น นายพรศิลป์ มองว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกจะขยายตัวตามเป้า เพียงแต่ในแง่ของมูลค่าอาจทำไม่ได้ตามเป้า เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ตั้งสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 56 ที่ 30 บาท/ดอลลาร์ แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่กลางเดือนม.ค.56 จนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าระดับสมมติฐานไปแล้ว

ทั้งนี้เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รับทราบสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอย่างดีแล้ว รวมทั้งมีทางออกที่จะเลือกใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในช่วงเวลาที่เหมาะสม

กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงล่าสุดนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการและภาคเอกชนผู้ส่งออกเองมองว่ายังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงกับอัตราแลกเปลี่ยนในระดับนี้ได้ โดยยังไม่ได้มีการนัดหารือหรือประชุมร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการส่งออก

"รอบนี้ไม่ได้นัดคุยกัน ที่ผ่านมาเราคุยกันมาเยอะแล้ว เพราะข้อห่วงใยของเราที่จะฝากไปถึงผู้ที่กำกับดูแลก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ต้องดูแลอย่าให้มันแข็งค่าเยอะนัก อย่าให้มันแข็งค่าเร็วนัก เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่ต้องไปดู" นายพรศิลป์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายพรศิลป์ แสดงความเป็นห่วงผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย(SMEs)ที่ยังไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งคงต้องขอความเห็นใจไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยพิจารณาเพิ่มวงเงินการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นปัญหาที่ธนาคารพาณิชย์ต่างทราบดีอยู่แล้ว และคงจะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยเช่นกัน

นายพรศิลป์ ยังคาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 6% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ 1.03 ล้านล้านบาท โดยให้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ยในปีนี้ไว้ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์, เศรษฐกิจโลกปีนี้ต้องขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5% รวมทั้งราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

          นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) คาดว่าแนวโน้มของเงินบาทในปีนี้ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยของไทยยังสูงกว่าต่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติยังแสดงความสนใจเข้าซื้อ Inflation link bond หรือพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ เพราะเมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตรทั่วโลกแล้วโดยเฉพาะประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่ๆ จะถือว่าพันธบัตรของไทยให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าประเทศอื่นมาก
          ขณะเดียวกันหากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นช่วงสั้นหรือยาวก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยที่คาดว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส อาจจะปรับอันดับความน่าเชื่อถือในตลาดพันธบัตรของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดพันธบัตรของไทยมากขึ้น และโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรก็จะมีมากขึ้นด้วย
          "มันมีความแตกต่างกันระหว่าง Baa3 กับ A1 มันมีนัยสำคัญมากพอสมควร เพราะการที่มีตัว B นำหน้ากับตัว A ในแง่ของมุมมองของนักลงทุนมันต่างกัน...ฉะนั้นก็จะมีอีกหลายๆ กองทุนที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ระดับ A- หรือเทียบเท่า A1 ต่อไปเงินบาทก็อาจจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง" นายปรากรม กล่าว
          โดยมองว่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าต่อเนื่องไปอย่างน้อยตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งจากการคาดการณ์ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.00 บาท/ดอลลาร์ โดยจะเริ่มลงไปทดสอบที่ระดับ 29.50 บาท/ดอลลาร์ จากนั้นจะเป็นแนวรับที่ 29.30 บาท/ดอลลาร์ และ 29.00 บาท/ดอลลาร์ในที่สุด ซึ่งอาจจะเห็นได้ในช่วงสิ้นปี 56 นี้
          แต่ทั้งนี้ถ้าเงินบาทแข็งค่าหลุดไปจากระดับ 29.00 บาท/ดอลลาร์ ก็มีโอกาสจะลงไปอยู่ที่ระดับ 28.30 บาท/ดอลลาร์ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับ ธปท.จะสามารถดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้หรือไม่
          สุดท้ายแล้วเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องไปอีกนานหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับว่า ธปท.จะมีมาตราการอย่างไรที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เพราะหากยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้จะไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่อาจจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระยะยาว
          แต่หาก ธปท.ออกมาตรการในการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน อาจจะทำให้ค่าเงินบาทกลับไปอ่อนค่าได้ แต่ยังคงมีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้น ซึ่งมองว่า ธปท.อาจจะไม่ใช้มาตรการควบคุมดังกล่าว เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนพอสมควร โดยมองว่า ธปท. คงปล่อยให้นักลงทุนในประเทศสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น หรืออาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท
          "แบงก์ชาติเคยมีประสบการณ์แล้ว ที่ตอนนั้นมีการยกเลิกนโยบายกันสำรอง 30% ส่งผลให้หุ้นร่วงวันละ 100 จุด ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์กันว่าทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง จึงมองว่าเป็นปัจจัยลบ ดังนั้นโอกาสที่แบงก์ชาติจะเข้ามาควบคุมเงินทุนไหลเข้าในระดับที่รุนแรงคงไม่น่าจะทำ" นายปรากรม กล่าว
          ส่วนในเรื่องของภาวะฟองสบู่นั้น มองว่าขึ้นอยู่กับ ธปท. เพราะถ้าหาก ธปท.มีมาตราการควบคุมดูแลที่ดีก็เชื่อว่าภาวะฟองสบู่คงจะไม่เกิด รวมถึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วยว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามดูจากปัจจัยภายนอกที่จะทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกในระยะนี้ คือ ในช่วงเดือนเม.ย.56 สหรัฐฯ จะมีการประชุมอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 57 และในเดือนพ.ค.56 เป็นการพิจารณาอนุมัติการปรับลดเพดานหนี้ของสหรัฐฯ
          นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบๆ 29.70-29.80 บาท/ดอลลาร์มานานพอสมควร แต่จากที่ล่าสุดเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 29.50 บาท/ดอลลาร์ มองว่าอาจยังไม่สะท้อนว่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว รวมถึง ธปท.กำลังดูแลเรื่องค่าเงินอยู่ ดังนั้น หากค่าเงินบาทสามารถแกว่งอยู่ในกรอบ 29.00-29.50 บาท/ดอลลาร์ได้ภายในครึ่งปีแรกมองว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก และ ธปท.คงเข้ามาดูแลให้บาทแกว่งตัวในช่วงแคบๆ ได้
          โดยในระยะเวลา 1-2 เดือนนี้หรือในครึ่งปีนี้ ถ้าเงินบาทไม่หลุด 29.30 บาท/ดอลลาร์ หรือ 29.00 บาท/ดอลลาร์ คิดว่ายังไม่สะเทือนมาก โดยครึ่งปีหลังอาจจะได้เห็นเงินบาทอยู่ที่ระดับ 28.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากในช่วงก่อนที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 คาดว่าประเทศไทยจะมีการใช้เงินลงทุนราว 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก
          ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยยังอยู่เกณฑ์การเติบโตที่ดี ทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะยังสามารถเติบโตได้ดีก็จะเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ รวมถึงภาคส่งออกปรับตัวดีขึ้น ภาคท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ดังนั้นค่าเงินบาทจึงมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นไปตามกระแสเงินของเอเชียที่มีค่าเงินแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
          "เงินบาทมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะดูแล ถ้ายังไม่สามารถดูแลได้ ทางการก็คงจะเข้ามาโดยพิจารณาใน 2 เรื่อง 1.ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อดูแลการไหลเข้าของเงิน 2.ทำในเรื่องของการสกัดกั้นเงินไหลเข้าผ่านการเก็บภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งคิดว่าทางการจะเลือกทำเป็นลำดับท้ายๆ คงเลือกแทรกแซงค่าเงินก่อน ค่าเงินบาทก็ไม่ถึงกับแข็งเร็วมากนัก แต่ต้องจับสัญญาณดูว่าจะแข็งกว่านี้มากแค่ไหน ซึ่งมองว่าอย่างน้อยกลางปีนี้เป็นต้นไปไม่ควรหลุด 29.00 บาท/ดอลลาร์ ถ้าจะหลุดคงเป็นช่วงครึ่งปีหลัง"นายธนวรรธน์ กล่าว
          พร้อมมองว่า เงินบาทอาจจะแข็งค่าไปตลอดทั้งปี เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ดีขึ้น เงินดอลลาร์จึงยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน และค่าเงินในเอเชีย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของเศรษฐกิจฟองสบู่ ซึ่งการที่มีเงินทุนไหลเข้ามามากเชื่อว่าเป็นผลจากเงินที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้หรือตลาดตราสารทุน ซึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยดี และรัฐบาลมีโครงการที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาท
          "ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ แม้ว่าอสัมหาริมทรัพย์เติบโตโดดเด่น เพียงแต่อาจจะมีการเก็งกำไรในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางพื้นที่ ถามว่าฟองสบู่จะเกิดไหม มันไม่มีการขายคอนโดฯ ขายใบจองรถยนต์ หรือราคาที่ดินที่แพงมาก ในระดับทั้งประเทศก็ยังไม่เห็นสัญญานนี้จึงไม่น่าจะเกิดฟองสบู่ในระยะนี้ และไม่ควรเกิดในปีนี้" นายธนวรรธน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ