ก.อุตสาหกรรมอนุมัติคำขอจัดตั้งโรงงานเพิ่มเติม 178 แห่ง จาก 358 คำขอ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 15, 2013 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ได้มีการพิจารณาคำขอไปแล้ว 346 คำขอ จากทั้งหมด 358 คำขอ โดยได้อนุญาตไปแล้ว 178 คำขอ ไม่อนุญาต 3 คำขอ ส่งกลับหน่วยงานเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมเนื่องจากผิดหลักเกณฑ์ 165 คำขอ

ทั้งนี้ เฉพาะโรงงานผลิตไฟฟ้ามีการนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา 91 คำขอ พิจารณาแล้ว 88 คำขอ อนุญาตไปแล้ว 83 คำขอ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,287 เมกะวัตต์ และส่งคืนหน่วยงานเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมเนื่องจากผิดหลักเกณฑ์ 5 คำขอ

ขณะที่วันนี้ได้มีการพิจารณาคำขอจำนวน 10 คำขอ ผลการพิจารณาปรากฏว่า มีคำขอที่ได้รับอนุญาตจำนวน 10 คำขอ แยกเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า 7 คำขอ และโรงงานประเภทอื่น 3 คำขอ

สำหรับการพิจารณาคำขออนุญาตโรงงานโดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า, โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับของเสีย, โรงงานที่อาจมีปัญหามวลชน หรือโรงงานที่ต้องจัดทำการประเมินความเสี่ยงนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยโรงงานดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ด้วย เนื่องจากโรงงานดังกล่าวมักมีการประท้วงคัดค้านการประกอบกิจการจากชุมชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงงาน

ทั้งนี้จากการสรุปผลการพิจารณาซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์ในการตั้งโรงงานได้ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก็สามารถออกใบอนุญาตได้ทันที โดยยึดแนวทางในการพิจารณา คือ ให้โรงงานเอื้อต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างหลักประกันให้กับชุมชนมากที่สุด

อย่างไรก็ดี มักพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีการก่อสร้างโรงงานไปก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ทำให้มีสภาพกลายเป็นโรงงานเถื่อน เนื่องจากขัดต่อ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้หากปล่อยให้มีการเปิดดำเนินการ ทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จึงส่งเรื่องให้หน่วยงานไปดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับก่อน แล้วจึงส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาต่อไป

จากมาตราการดังกล่าวทำให้ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานจัดเก็บเงินค่าเปรียบเทียบปรับได้กว่า 50 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงยังพบว่าผู้ประกอบการยังกระทำผิดและบกพร่องในเรื่องต่างๆ อีก เช่น การใช้พื้นที่ทับซ้อนที่สาธารณะ การขาดมาตราการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสังคม การจัดมาตราการกำจัดสิ่งปฏิกูล การขาดมาตราการบำบัดน้ำเสีย และการขาดเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพิจารณาอนุญาต

นอกจากนี้ จากที่เป็นข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยเร็ว เป็นตัวถ่วงการอนุญาตให้ล่าช้านั้น คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ขอยืนยันว่าการพิจารณาคำขออนุญาตโรงงาน(รง.4) ไม่ได้มีความล่าช้าแต่อย่างใด ซึ่งยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วัน ประกอบกับมีความโปร่งใสไม่มีผลประโยชน์ใดๆ มาเกี่ยวข้อง และสามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ