(เพิ่มเติม1) ธปท.ปรับคาด GDP ปี 56 เป็นโต 5.1%,ปี 57 โต 5%และยังมีโอกาสสูงขึ้นอีก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 12, 2013 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน เม.ย.56 ว่า ธปท.ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 56 เพิ่มเป็น 5.1% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.9% ส่วนปี 57 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5% สูงขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 4.8%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และปรับสูงขึ้นจากประมาณการเดิม เนื่องจากมีแรงส่งเศรษฐกิจจากไตรมาส 4/55 ที่สูงกว่าคาดการณ์ทำให้เศรษฐกิจในปี 55 ขยายตัว 6.4% สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.9%

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ครั้งล่าสุดได้รวมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐภายใต้โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดย ธปท.ประเมินว่าในปี 56 จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนราว 1.7 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากสามารถเบิกจ่ายได้สูงขึ้นกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ล่าสุด

"เศรษฐกิจไทยในปี 56 และ 57 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย จากแรงส่งที่ดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 55 และแรงกระตุ้นภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายในงบประมาณที่สูงขึ้นและความชัดเจนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้คณะกรรมการฯ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากและเร็วกว่าเดิม"นายไพบูลย์ ระบุ

อย่างไรก็ดี ในปี 56 ผลบวกจากปัจจัยข้างต้นถูกทอนลงด้วยแนวโน้มอุปสงค์ในช่วงต้นปีที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้บ้าง ทั้งนี้ ตลอดช่วงประมาณการความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ แต่ความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่อาจเบิกจ่ายได้เร็วกว่าในกรณีฐาน แผนภาพรูปพัด(Fan Chart) ของประมาณการเศรษฐกิจจึงปรับจากเบ้ลงเป็นสมดุล

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวและไม่แตกต่างจากครั้งก่อนมากนัก ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อโน้มไปทางด้านสูงเล็กน้อย โดยในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวและปัจจัยการผลิตในประเทศตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในตลาดแรงงานการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าอาจเพิ่มขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการอัตราเงินเฟ้อจึงปรับจากสมดุลเป็นเบ้ขึ้นเล็กน้อย

กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในระดับปัจจุบันยังมีความเหมาะสม โดยในการประชุมเมื่อ 20 ก.พ.56 เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมามีส่วนเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและเศรษฐกิจในประเทศมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ กนง.จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี และจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

รายงานของ กนง.ยังระบุว่า กนง.มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญและคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงประมาณการ การใช้จ่ายบริโภคในปี 56 จะขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ครั้งก่อน ส่วนหนึ่งจากการบริโภคสินค้าคงทนที่เร่งตัวมากกว่าคาดในไตรมาส 4/55

ขณะที่รายได้และการจ้างงานของภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี นโยบายเพิ่มรายได้ของภาครัฐ และภาวะการเงินที่เอื้ออำนวยจะช่วยรักษาแรงส่งของการบริโภคให้มีต่อเนื่องในระยะข้างหน้า การลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้บ้างในระยะสั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่ดีและภาพรวมอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น จากการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการสินค้าในประเทศที่ขยายตัวสูงและการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีความชัดเจนขึ้นจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกสินค้าอาจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้าง แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเครื่องชี้สำคัญของการส่งออกที่เริ่มปรับดีขึ้นเป็นลำดับ เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังคงมีความเปราะบางและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมในช่วงต้นปี 2556 ชะลอลงจากที่คาดไว้บ้างส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรที่อ่อนแอลงและมาตรการปรับลดงบประมาณของสหรัฐฯ

แต่ในช่วงประมาณการที่เหลือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีความชัดเจนขึ้น ภาคเอกชนในสหรัฐทยอยฟื้นตัว และเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลีและวิกฤตภาคสถาบันการเงินในไซปรัสจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้นเท่านั้น

"แรงส่งเศรษฐกิจยังมาจากเศรษฐกิจคู่ค้า ที่แม้จะไม่ขยายตัวขึ้นมาก แต่มีเสถียรภาพและปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ทำให้ประเมินว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจด้านลบและด้านบวกอยู่ระดับใกล้เคียงกัน จากเดิมที่ประเมินความเสี่ยงด้านลบจะมีมากกว่าด้านบวก"นายไพบูลย์ กล่าว

อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัว ในระยะสั้นแรงกดดันต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย ไตรมาส 1/56 อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากราคาในหมวดอาหารเป็นสำคัญ แต่ในระยะต่อไปคาดว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์จะทยอยเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับช่องว่างการผลิต(Output Gap) ที่จะเริ่มเป็นบวกเล็กน้อยในระยะข้างหน้า

ส่วนแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนเล็กน้อยจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปีนี้ที่คาดว่าจะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้เพราะปัญหาความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในช่วงต้นปี ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังคงข้อสมมติการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไว้ตลอดช่วงประมาณการ

"อัตราเงินเฟ้อถือว่ามีเสถียรภาพแม้ระยะสั้น เงินเฟ้อจะต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย แต่ระยะต่อไปต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีแรงกดดันด้านอุปสงค์มากขึ้นตามการขยายตัวเศรษฐกิจ ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตลาดแรงงานที่ตึงตัว ปัญหาอุปทานด้านอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ความสามารถของผู้ประกอบการด้านต้นทุนลดลง จนในที่สุดต้องส่งผ่านไปถึงด้านราคา"นายไพบูลย์ กล่าว

ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดี คณะกรรมการฯ เริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจการเงิน สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องพร้อมกับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอาจเพิ่มความเปราะบางของภาคครัวเรือนในอนาคต นอกจากนั้น มีสัญญาณของพฤติกรรมการลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้นทั้งใน ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม

"กนง.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะที่ผ่านมา ภาวะการเงินมีสถาพคล่องมาก ดอกเบี้นที่ไม่ได้ปรับขึ้น ซึ่งอยู่ระดับทรงตัว ทำให้มีการกู้ยืม มีการใช้จ่าย เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น หนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าขึ้นกับข้อมูลด้านเศรษฐกิจ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเหมาะสมตลอดไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ กนง.จะใช้ในการประเมิน อย่างไรก็ตามความท้าทายด้านการเงินในระยะข้างหน้า คือ ต้องผสมผสานกับนโยบายอื่น ทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการคลัง นโยบายกกำกับสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจเติบโตใกล้เคียงหรือเต็มศักยภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของหนี้ภาคครัวเรือน และปัญหาฟองสบู่

พร้อมทั้งการจัดการความท้าทายระยะสั้น จากการผันผวนของเงินทุนไหลเข้า และเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แต่ ธปท.ยังเห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้เป็นโอกาสที่ภาคเอกชนต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกัน เห็นความท้าทายเป็นโอกในการยกระดับความสามารถการแข่งขัน ใช้โอกาสไปลงทุนต่างประเทศ หรือนำเข้าเครื่องจักรเพื่อลุดต้นทุนด้านแรงงาน

"อย่ามองว่าเงินบาทแข็งค่าเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ...ค่าเงินไม่ใช่พลทหาร ที่จะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ แต่เรายังสามารถบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง ยังไม่น่าห่วง"นายไพบูลย์ กล่าว

ด้านความเสี่ยงจากค่าเงิน กนง.ประเมินว่าอาจมีผลกระทบบ้าง แต่จะไม่ทำให้ภาพรวมส่งออกเสียไป ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าภูมิภาคในช่วงต้นปีที่ผ่านมาส่งผลต่อรายรับของูผู้ส่งออกบ้าง แต่ไม่น่าจะมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการได้คาดการรณ์และป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าไว้แล้ว ขณะที่ภาวะเงินเยนอ่อนค่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ