เงินบาทปิดตลาด 29.04/06 เคลื่อนไหวกรอบแคบ มองสัปดาห์หน้า 28.90-29.10

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 12, 2013 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 29.04/06 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 29.06/08 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับไฮสุดของวัน โดยระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 29.00/02 บาท/ดอลลาร์
"เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ลงไปแตะ 29.01/03(บาท/ดอลลาร์) ก่อนที่จะกลับมาอ่อนค่าตามแรงซื้อขาย" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้าไว้ในกรอบระหว่าง 28.90-29.10 บาท/ดอลลาร์

*ปัจจัยสำคัญ

  • ช่วงปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 99.07/11 แข็งค่าจากระดับ 99.57/59 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3045/3047 ดอลลาร์/ยูโร อ่อนค่าจากระดับ 1.3114/3117 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดช่วงบ่ายที่ระดับ 1,527.32 จุด เพิ่มขึ้น 10.51 จุด(+0.69%) มูลค่าการซื้อขาย 41,492.94 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่มต่างชาติซื้อสุทธิ 1,095.43 ลบ.(SET+MAI)
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย ณ วันที่ 5 เม.ย.อยู่ที่ 178.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 29 มี.ค.56 ที่ 177.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินบาท ณ วันที่ 5 เม.ย.56 อยู่ที่ 5,213.8 พันล้านบาท จาก 5,210.0 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 29 มี.ค.56 ส่วนฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิของไทย ณ วันที่ 5 เม.ย.อยู่ที่ 23.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันที่ 29 มี.ค.56 อยู่ที่ 23.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน เม.ย.56 ว่า ธปท.ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 56 เพิ่มเป็น 5.1% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.9% ส่วนปี 57 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5% สูงขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 4.8%
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐลงสู่ระดับ 1.7% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ 2% อันเนื่องมาจากการปรับลดงบประมาณรายจ่ายโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% ในปี 2556 จากเดิมที่คาดไว้ 3.5% เมื่อต้นปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรจะหดตัวลง 0.2% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยภูมิภาคยังเผชิญวิกฤตหนี้ รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศสมาชิก เช่น ผลการเลือกตั้งของอิตาลีที่ไม่มีความชัดเจน ส่วนญี่ปุ่นนั้นคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแตะ 1.5% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ 1.2%
  • ธนาคารกลางสิงคโปร์ประกาศคงนโยบายการเงินในวันนี้ ด้วยการปล่อยให้สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ค่อยๆ แข็งค่าขึ้น ถึงแม้เศรษฐกิจภายในประเทศจะหดตัวลงผิดความคาดหมายในไตรมาสที่ผ่านมา แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อทำให้สิงคโปร์ต้องจำกัดขอบเขตการใช้มาตรการกระตุ้นการเงิน ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) หดตัวลง 1.4% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ขยายตัว 3.3% และคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคอาจจะขยายตัว 3-4% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.5-4.5% และคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.5-2.5%
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) เดือน พ.ค.ปรับตัวลง 21 เซนต์ แตะที่ 93.30 ดอลลาร์/บาร์เรล ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่ตลาดเอเชียเมื่อเวลา 10.32 น.ตามเวลาสิงคโปร์ในวันนี้ หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปีนี้ลงเหลือ 90.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือน มี.ค.ถึง 45,000 บาร์เรลต่อวัน
  • องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) เผยไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่คร่าชีวิตประชาชนและมีผู้ติดเชื้อหลายสิบรายในประเทศจีนนั้นถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากการตรวจสอบหาอาการบ่งชี้ต่างๆ ในสัตว์ปีกนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
  • ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดอ่อนตัวลง ขณะที่รัฐมนตรีคลังยูโรโซนเตรียมประชุมที่กรุงดับลิน ซึ่งจะหารือเรื่องข้อตกลงในการขยายระยะเวลาเงินกู้สำหรับไอร์แลนด์และโปรตุเกส นอกจากนี้นักลงทุนยังรอดูการเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐในคืนนี้ซึ่งคาดการณ์ว่า ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือน มี.ค.อาจจะซบเซา
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนในเดือน ก.พ.ขยายตัวขึ้น 0.4% จากเดือน ม.ค.ที่ร่วงลง 0.6% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.1-0.2% ซึ่งอาจเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มที่จะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ