(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"ออกปากอยากปลดผู้ว่า ธปท.หลังไร้เสียงตอบรับแนวทางลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 19, 2013 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ“อนาคตเศรษฐกิจไทย"ซึ่งเป็นการดีเบตกับนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต รมว.คลัง ดำเนินการรายโดยนายสิทธิชัย หยุ่น เป็นพิธีกร โดยนายกิตติรันต์ ยอมรับว่ามีความคิดอยากปลดผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในระหว่างการตอบคำถามของพิธีกรถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าและอัตราดอกเบี้ย
"คิด คิดทุกวัน"นายกิตติรัตน์ กล่าว

ส่วนคำถามที่ว่าจะทำหรือไม่นั้น กิตติรัตน์ ตอบเพียงสั้นๆว่า "ขอผ่าน"

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการหารือกับผู้ว่าการ ธปท.หลายครั้ง แต่แนวทางการทำงานในเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนตัวอยากเห็นทาง ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีกราว 1% เพราะอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ถือว่าสูงเกินไป ซึ่งสภาพคล่องที่มีควรดำเนินการให้เหมาะสมและคำนึงถึงผลประโยชน์กับประเทศ เนื่องจากเงินบาทแข็งค่ามอย่างหนักและสร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบเรื่องดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาตั้งแต่ยุคลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีเงินทุนสำรองกว่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสภาพคล่องส่วนเกินและไม่ได้นำไปลงทุนเท่าที่ควร ซึ่งที่ผ่านมาธปท.ได้มีการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินด้วยการออกเป็นพันธบัตร ซึ่งมีมากกว่าพันธบัตรที่ออกจากธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง และมีผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย

แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ การจ่ายอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน ขณะที่เงินตราต่างประเทศที่จะนำซึ่งผลตอบแทนมาสู่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทำให้เกิดส่วนต่าง และธปท.กำลังเกิดการขาดทุนยอดหนี้เดือนละมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่เกิดจากการขาดทุนจากการจ่ายดอกเบี้ยสูง

หากมองในแง่ว่าจะส่งผลทำให้เกิดเงินเฟ้อนั้น นายกิตติรัตน์ มองว่า ไม่ได้มีผลจากเรื่องของดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเงินในระบบที่มีมาก การที่ยังคงระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันกลับดึงเงินจากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ ธปท.ต้องดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกเป็นพันธบัตรมากขึ้น

“ถ้าถามว่ามีความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อหรือยัง ยอมรับว่ามี แต่ในขณะนี้ความเสี่ยงที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเงินยังไม่ท่วมระบบ และธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยดูดออกไป และยอมรับต้นทุนเหล่านั้นด้วยตัวเอง แล้วเราจะไปจ่ายต้นทุนตรงนั้นเพื่อให้นักลงทุนจากต่างประเทศมีผลตอบแทนที่ดีไปทำไม ทำไมเราไม่ยอมให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดต่ำไปกว่านี้สักหน่อย ซึ่งไม่จำเป็นต้องลดลงรุนแรง ค่อยๆขยับให้เกิดความนุ่มนวล"นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมกันนี้ยังพบว่าตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ประเทศไทยไม่ได้มีการเกินดุลบัญชีการค้าและบัญชีเดินสะพัด แต่ทิศทางของค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังเกตว่าเงินที่ไหลเข้ามานั้น ไม่ได้ผ่านระบบการค้าและการบริการของประเทศ แต่ไหลเข้ามาลงทุนซื้อพันธบัตรของธปท.ที่ได้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 3% เศษๆ

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมว.คลัง กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่อยู่ระดับสูงจนเกินไป และควรจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพราะหากเปรียบเทียบจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ มีความแตกต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง เพราะไทยมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างชัดเจน มีอัตราการว่างงานต่ำ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่พบปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แต่อัตราการขยายตัวของบางภาคธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นการก่อตัวให้เกิดฟองสบู่ขึ้นจริง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องเข้ามาดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ธปท.จะมีผลขาดทุนราวปีละ 8 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ราว 12 ล้านล้านบาทแล้ว ถือเป็นเม็ดเงินที่ไม่มากนัก เทียบออกมาเพียง 0.6-0.7% ถือเป็นเม็ดเงินที่ใช้น้อยกว่านโยบายรถคันแรกของรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ

และถึงแม้ว่าธปท.จะมีการขาดทุนสะสมกว่า 3-4 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันยังมีทรัพย์สินสุทธิที่ยังคงเป็นบวกกว่า 5 แสนล้านบาท สถานะธปท.ก็มีความเข้มแข็งและมีเครื่องมือในการพิมพ์พันธบัตรเองไม่เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ดังนั้นจึงเห็นว่าหน้าที่ของ ธปท.จึงแตกต่างจากกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หากลดอัตราดอกเบี้ยลงมา นายกรณ์ มองว่า อาจจะส่งผลต่อเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรลดลง แต่ขณะเดียวกันเงินที่เข้ามาในตลาดทุนกลับเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และการบริหารการไหลเข้าออกของเงินทุนจึงไม่มีสูตรตายตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ