"กิตติรัตน์"ระบุหากคงดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องเตรียมมาตรการเสริมแก้บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 26, 2013 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจในช่วงบ่ายวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าระดับค่าเงินบาทที่ต่ำกว่า 29.00 บาท/ดอลลาร์เป็นระดับที่แข็งค่าเกินไป และมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ที่ประชุมมีความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% หากไม่มีการดำเนินการมาตรการเสริมเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงิน จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ดังนั้น หากเงินบาทยังแข็งค่าและยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวก็จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเข้ามาแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้รายงานแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ แต่ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในขณะนี้ ประกอบกับช่วงต้นสัปดาห์หน้าก็มีแนวคิดที่จะสู้ตลาดทำให้เงินบาทอ่อนตัวลงอยู่ใระดับที่ส่งผลเสียหายน้อยลง ส่วนความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการอื่นนอกเหนือจากที่มีอยู่ก็ยังไม่มี

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การที่ตลาดได้รับรู้ข้อห่วงใยของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีความประสงค์จะให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามแรงซื้อขายจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป คือจุดยืนร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การติดตามค่าเงินบาทเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยที่ประชุมได้มีการซักถามว่าเงินบาทควรอยู่ในระดับใด แต่ ธปท.ก็แจ้งว่าไม่สามารถเปรียบเทียบระดับเงินบาทที่เหมาะสมเฉพาะกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่จะต้องเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งด้วย

"ขณะนี้ตลาดรับรู้แล้วว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไม่อยากเห็นเงินบาทแข็งค่าจนกระทบเสถีรยรภาพเศรษฐกิจ และทำให้ภาวะการเก็งกำไรคลายตัวลง"นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลงมาที่กว่า 29 บาท/ดอลลาร์ในวันนี้

ส่วนประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันในหลักการว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ลดต่ำจะทำให้แรงจูงใจให้เงินทุนไหลเข้าในตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ลดลง แต่ได้หารือถึงข้อดีข้อเสียในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยควบคู่ไปกับความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.จะนำข้อมูลต่าง ๆ ไปหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงินเพื่อพิจารณาควบคู่กับภาวะการณ์ต่าง ๆ ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน

"บอร์ด ธปท.ก็เป็นบอร์ด กนง.3 คน ผู้ว่าฯ ก็จะนำไปรายงาน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คนก็จะใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียของการลดดอกเบี้ยควบคู่การใช้มาตรการอื่น ๆ"นายกิตติรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ระดับ 2.75% ก็ควรมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริมซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่ประชุมไม่ได้มีมติว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% เหมาะสมหรือไม่ โดยหลายคนมองว่าสามารถลดลงได้อีก และหลายคนก็ไม่อยากให้ปรับลด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ