เงินบาทปิด 29.42/44 ปรับตัวอ่อนค่าจากแรงซื้อ-ขายในตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2013 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 29.42/44 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 29.38/40 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาท Low สุดอยู่ที่ 29.35 บาท/ดอลลาร์ High สุดอยู่ที่ 29.44 บาท/ดอลลาร์
"เงินบาทปิดอ่อนค่า เนื่องจากมีแรงซื้อ แรงขายในตลาด"นักบริหารเงิน กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าค่าเงินบาทคงเคลื่อนไหวในกรอบบวก/ลบ จากการเคลื่อนไหวในวันนี้ 20 สตางค์

"ตอนนี้ยังให้กรอบชัดเจนไม่ได้ ตลาดยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา" นักบริหารเงิน กล่าว

*ปัจจัยสำคัญ

  • ช่วงปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 97.23/26 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 97.30/31 บาท/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3167/3169 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3174/3177 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,589.19 จุด ลดลง 8.67 จุด, -0.54% มูลค่าการซื้อขาย 56,862.08 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 188.79 ลบ.(SET+MAI)
  • นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาระบุว่า ธปท.อาจเกิดความเสียหายนับล้านล้านบาทก่อนสิ้นปีนี้ หากยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยอาจเกิดภาวะวิกฤติเหมือนในอดีต ขณะที่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีความแตกต่างจากนอกประเทศเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยอมรับว่า ในการหารือเรื่องการแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่ผ่านมากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณนั้น ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า และไม่เป็นไปตามทิศทางที่ได้หารือร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนเม.ย.ปรับตัวขึ้นแตะ 46.7 จาก 46.8 ในเดือนมี.ค. แต่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตในภูมิภาคยังคงหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ดัชนีภาคการผลิตของทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ต่างก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50
  • รายงานการประชุมประจำวันที่ 3-4 เม.ย.ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระบุว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของบีโอเจมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบาย "ผ่อนคลายการเงินระยะใหม่" โดยกรรมการบางรายเรียกร้องให้มีมาตรการที่จะส่งผลต่อตลาดการเงิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ