กทค. เผยโอเปอเรเตอร์ 3 รายให้บริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz ใน 7,8,9 พ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 4, 2013 09:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) แถลงผลการประชุมหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ระหว่างคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลี่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ว่า ในการประชุมหารือครั้งนี้ มีหลายประเด็นที่ กทค. ได้สอบถามทางผู้รับใบอนุญาต และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยประเด็นสำคัญได้แก่ แผนการให้บริการ รูปแบบการให้บริการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz รวมถึงแผนการคุ้มครองผู้บริโภค และแผนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ซึ่ง กทค. ได้ให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลี่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ไปปรับแผน CSR ให้ได้แผนที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนให้มากกว่าเดิม

สำหรับประเด็นเรื่องแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz นั้น ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลี่น ความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ยอมรับแนวทางตามมติ กทค. ในการกำหนดอัตราค่าบริการ และผู้ประกอบการเองต้องการสร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด

ในส่วนของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Number Portability) หรือ การเปลี่ยนผู้ใช้บริการโดยใช้เลขหมายโทรศัพท์เดิม กทค. ได้ขอข้อมูลและความเห็นของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลี่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ปัจจุบันมีความต้องการใช้บริการอยู่ประมาณ 3,000 รายต่อวัน โดยมีขีดความสามารถสูงสุดในการให้บริการยู่ที่ 40,000 เลขหมายต่อวัน กรณีที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต กทค. ได้ให้ขยายขีดความสามารถให้ได้ตามความต้องการใช้บริการจริง ทั้งนี้ สิ่งที่ กทค. คำนึงถึงมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ กทค. มุ่งเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภค ต้องการให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกที่จะใช้บริการ

ในส่วนของการเปิดให้บริการผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีแผนเปิดให้บริการในวันที่ 7, 8, 9 ตามลำดับ สำหรับเรื่องอัตราค่าเชื่องต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge) หรือ ค่า IC เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ได้ค่า IC ที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้มีการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยรวม

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช./กทค. ด้านกฎหมาย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการคุ้มครองผู้บริโภค และแผนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ว่า กทค. ให้ความสำคัญกับแผนการคุ้มครองผู้บริโภค และแผน CSR มาก เพราะหากผู้บริโภคมีความรู้สึกที่ดีว่าไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การดำเนินการต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น นอกจากนั้น ได้ให้ผู้ประกอบการหาวิธีที่จะทำให้ผู้ใช้บริการที่สมัครใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz (3G ใหม่) รู้ว่าเขาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ใหม่อยู่ ตามที่ต้องการใช้ สำหรับการกำหนดอัตราค่าบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่จะต้องมีการปรับลดลงตามที่ กทค. กำหนดนั้น ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการนำโปรโมชั่นเดิมที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากมาใช้ในการให้บริการ 3G ใหม่ เท่าที่จะสามารถทำได้ ประชาชนจะได้เห็นชัดเจนว่า อัตราค่าบริการมันลดลง

สำหรับเรื่องคุณภาพของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G หรือ 3G เดิม เมื่อบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เปิดให้บริการ คุณภาพของสัญญาณน่าจะดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการประเภทข้อมูลที่ใช้บริการรวมอยู่บนเครือข่าย 2G เดิม จะย้ายไปใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ซึ่งจะทำให้ความแออัดของการใช้ช่องสัญญาณลดลง

และประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลในเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเรื่องการยืนยันความเป็นเจ้าของเลขหมาย หรือการตรวจสอบสถานภาพและเงื่อนไข จะมีปัญหาในแง่กฎหมายหรือไม่ถ้าใช้ช่องทางยืนยันในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ นั้น จากการตรวจสอบพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 และประกาศที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายกฎหมายแล้วยืนยันว่าสามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ นอกจากนั้น กรณีการเพิ่มศักยภาพของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายนั้นน่าจะใช้เวลาไม่นาน และทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าควรคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ