เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 29.44/46 แกว่งตัวอ่อนค่าตามแรงซื้อขายในตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 9, 2013 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 29.44/46 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 29.35/37 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 29.32/34 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 29.56/58 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวตามแรงซื้อขายในตลาด
"เงินบาทแกว่งตัวทั้งวันตามดีมานด์-ซัพพลายของตลาดมากกว่า" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้น่าจะยังคงมีทิศทางเหมือนวันนี้ โดยนักลงทุนรอดูผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.56 ยกเว้นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม

"มองกรอบการเคลื่อนไหวยากมาก ระหว่างวันแกว่งตัวเกือบ 20 สตางค์" นักบริหารเงิน กล่าว

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 98.66/68 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 98.82/86 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3144/3148 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.3160/3162 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,621.12 จุด เพิ่มขึ้น 6.97 จุด, +0.43% มูลค่าการซื้อขาย 52,166.21 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,254.96 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เผยได้นัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชนกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เพื่อหารือถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในวันที่ 13 พ.ค.นี้ และหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเห็นว่าขณะนี้ยังไม่อยู่ในจังหวะที่จะต้องออกมาตรการใดเพิ่มเติมสำหรับการดูแลค่าเงินบาท แต่จะให้มีการทำงานร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ จากก่อนหน้านี้ กนง.จะคำนึงถึงเสถียรภาพด้านราคาโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลักการ แต่ขณะนี้มองว่าการแข่งขันทางการค้าและปริมาณเงินในโลกที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน จำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าควรจะมีเป้าหมายของอัตราแลกเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้ด้วย ไม่ใช่เป็นการยึดค่าเงินบาทที่เทียบกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ต้องอิงกับสกุลเงินของคู่ค้าและคู่แข่งด้วย
  • ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ย้ำถึงแนวทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าว่า แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยมีภาระหนักที่จะต้องดูแลดุลยภาพเศรษฐกิจในประเทศ และถือเป็นความยากลำบากของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ต้องพยายามรักษาดุลยภาพดังกล่าว
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เผยตัวเลขจ้างงานเดือน เม.ย.56 เพิ่มขึ้น 50,100 รายจากเดือนก่อนหน้า และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราว่างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% จาก 5.6% สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานของออสเตรเลียสามารถรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาได้
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 2.5% ในการประชุมวันนี้ เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเยน โดยระบุว่าทิศทางของเงินเยนในอนาคตมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
  • กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เผยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.61 พันล้านดอลลาร์จากเดือนก่อน แตะระดับ 1.25796 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย.56 โดยปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้ทรัพย์สินภายใต้การถือครองญี่ปุ่นในสกุลเงินยูโรมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่รัฐบาลญี่ปุ่นถือครองอยู่
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) เดือน มิ.ย.56 ขยับขึ้น 1 เซนต์ แตะที่ 96.63 ดอลลาร์/บาร์เรล ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่ตลาดเอเชีย เมื่อเวลา 11.37 น.ตามเวลาสิงคโปร์ในวันนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
  • รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 จะให้การรับรองว่าจะร่วมมือกันในการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าจะยังคงมีเสียงวิจารณ์จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศเกี่ยวกับการผ่อนคลายด้านสินเชื่อเชิงรุกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอยู่บ้างก็ตาม นอกจากนี้รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางจากอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐ ยังจะหารือกันในเรื่องการกำกับดูแลภาคธนาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินโลกขึ้นมาอีก ภายหลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายเมื่อปี 2551
  • สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในเดือน มี.ค.56 โดยดัชนีพ้องเศรษฐกิจ(index of coincident indicators) ซึ่งประเมินภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น ผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการจ้างงานใหม่ เพิ่มขึ้นแตะ 93.3 จากระดับ 92.5 ในเดือน ก.พ.56 เมื่อเทียบกับระดับฐานที่ 100 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ดัชนีดังกล่าวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดแล้ว หรับดัชนีนำเศรษฐกิจ(index of leading indicators) ซึ่งคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอ่อนตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 97.6 จาก 97.7 และดัชนีตามเศรษฐกิจ(index of lagging indicators) ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นแตะ 87.1 จากระดับ 86.0
  • สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีน(CAAM) เผยยอดขายรถยนต์ที่ผลิตในจีนเพิ่มขึ้น 13.4% ในเดือน เม.ย.เมื่อเทียบรายปี โดยเพิ่มขึ้นจากอัตราขยายตัวที่ 11% ในเดือน มี.ค.56 โดยมียอดขายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 1.44 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์อยู่ที่ 400,300 คัน เพิ่มขึ้น 14.9% เมื่อเทียบรายปี สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.56 ยอดขายรถทั่วประเทศอยู่ที่ 7.27 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 13.2% เมื่อเทียบรายปี
  • นักวิเคราะห์ชี้กรณีธนาคารกลางออสเตรเลียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% จากระดับ 2.75% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) เพื่อสนับสนุนด้านการค้า โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมเงินสกุลดอลลาร์ออสเตรเลียที่ไม่ได้อ่อนค่าลงตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
  • สเปนสามารถขายพันธบัตรในวงเงินสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในการประมูลวันนี้ ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมลดลง การที่ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้นได้ส่งผลให้ความต้องการพันธบัตรที่ออกโดยประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจดีดตัวสูงขึ้น โดยธนาคารกลางสเปนเผยสามารถระดมทุนจากการประมูลขายพันธบัตร 3 ชุดได้ 4.57 พันล้านยูโร(6 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ที่ 4.5 พันล้านยูโร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 ปีอยู่ที่ 2.247% ลดลงจาก 2.792% ในการประมูลเดือนที่แล้ว ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.789% เทียบกับ 3.257% ในเดือน เม.ย. ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 อยู่ที่ 4.336% ลดลงจาก 5.555% ในการประมูลครั้งก่อน
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้น 128 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 13,666 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึง หรือเท่ากับ 1,478.29 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 13.85 ดอลลาร์สหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ