เงินบาทปิดตลาด 29.65/67 ปรับตัวอ่อนค่าสวนทางภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 14, 2013 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 29.65/67 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 29.56/58 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวสวนทางกับค่าเงินในภูมิภาค
"เงินบาทปรับตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ก่อนที่จะมาอ่อนค่าช่วงท้ายตลาด หลังตัวเลข ZEW ของเยอรมนีออกมา ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 29.55-29.75 บาท/ดอลลาร์

"ปัจจัยที่ตลาดจับตาดูเป็นเรื่องมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่ยังไม่มีความชัดเจน ทุกครั้งที่มีประชุมอัตราแลกเปลี่ยนก็จะผันผวน" นักบริหารเงิน กล่าว

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 101.62/66 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 101.66/70 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2980/2983 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.2982/2985 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,623.48 จุด เพิ่มขึ้น 5.75 จุด, +0.36% มูลค่าการซื้อขาย 50,774.99 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 986.03 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ทำหน้าที่เป็นประธานจัดการประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และภาคเอกชนแบบเมื่อวานนี้อีก 2 ครั้ง โดยขอให้เชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือด้วย คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นการบ้านให้แต่ละกระทรวงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม

โดยนายกิตติรัตน์ ระบุว่า ถ้าหากเงินบาทอยู่ที่ระดับ 29 บาทปลายๆ จนถึง 30 ปลายๆ เชื่อว่าภาคเอกชนจะยังรับได้ ถ้าไม่มีการแข็งค่าไปที่ระดับ 29 บาทต้นๆ และ 28 บาทปลายๆ ก็คงจะไม่มีปัญหา และเอกชนน่าจะยังรับได้อยู่

  • นายออลลี เรห์น สมาชิกคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป(อียู) เรียกร้องให้กลุ่มประเทศอียูดำเนินขั้นตอนต่อไปเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพการธนาคาร ขณะที่นายวูล์ฟกัง ชอยเบิล รมว.คลัง เยอรมนี ระบุว่าการจัดตั้งหน่วยงานช่วยเหลือภาคการธนาคารร่วมกันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาของอียู
  • นายอากิระ อามาริ รัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง ญี่ปุ่น แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว โดยระบุว่าหากผลตอบแทนพุ่งขึ้นจะทำให้การจ่ายผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นและจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเสริมความแข็งแกร่งทางการคลังของญี่ปุ่น
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี(Destatis) เผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ของเยอรมนีในเดือน เม.ย.ลดลงแตะ 1.2% เมื่อเทียบรายปี จาก 1.4% ในเดือน มี.ค.โดยเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับต้วลง โดยดัชนี CPI ของเยอรมนีในเดือน เม.ย.ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และแตะระดับต่ำสุดนับแต่กลางปี 2553
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี(Istat) เผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ของอิตาลีในเดือน เม.ย.ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มี.ค. และเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสดนั้นปรับขึ้นที่ 1.2% เมื่อเทียบรายปี ในเดือน เม.ย.
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี เผยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเดือน พ.ค.ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 36.4 จาก 36.3 ในเดือน เม.ย. ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันในเดือน พ.ค.ลดลงแตะ 8.9 จาก 9.2 ในเดือน เม.ย.
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงปรับตัวขึ้น 67 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 13,400 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึง หรือราคาเทียบเท่ากับ 1,449.51 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 7.23 ดอลลาร์สหรัฐ
  • รัฐบาลสเปนสามารถระดมทุนจากการขายตราสารหนี้ระยะสั้นได้ 4.047 พันล้านยูโร(5.25 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายสูงสุดซึ่งกำหนดไว้ที่ 4 พันล้านยูโรอยู่เล็กน้อย ขณะที่อัตราผลตอบแทนลดลง โดยตั๋วเงินคลังอายุ 6 เดือน ขายได้ 1.013 พันล้านยูโร ที่อัตราผลตอบแทน 0.492% ลดลงจาก 0.530% ในการประมูลเดือนที่แล้ว ขณะที่ความต้องการซื้อสูงกว่าจำนวนที่เปิดขายอยู่ 4.65 เท่า เทียบกับการประมูลครั้งก่อนที่ 3.77 เท่า นอกจากนี้ยังขายตั๋วเงินคลังอายุ 12 เดือน ได้ 3.034 พันล้านยูโร ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.994% ลดลงจาก 1.235% ในการประมูลเดือน เม.ย. และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การประมูลเมื่อเดือน เม.ย.53 ขณะที่ความต้องการซื้อสูงกว่าจำนวนที่เปิดขายอยู่ 2.03 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับการประมูลครั้งก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ