SMEs-นักวิชาการ เสนอพาณิชย์ลดดบ.แก้บาทแข็ง เตรียมชง"บุญทรง"เสนอรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 16, 2013 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ระดมความคิดเห็น "พาณิชย์ช่วยผู้ส่งออก เอสเอ็มอีจากวิกฤตค่าเงินบาท"ว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าและผันผวน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ทำให้ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้ เพราะกำหนดราคาขายสินค้าได้ลำบาก และไม่สามารถซื้อขายสินค้าตามสัดส่วนเงินบาทที่แข็งค่าได้ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้จะทำให้ขีดความสามารถในการส่งออกลดลง

ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่ายังส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรจะลดลง และยังกระทบต่อเนื่องไปถึงสต๊อกสินค้าเกษตรของรัฐบาลที่อาจขายยากขึ้นและราคาลดลงด้วย

สำหรับแนวทางในการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงพาณิชย์ ระยะสั้นจะเน้นการให้ความรู้ในการปรับตัวและบริหารจัดการเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงิน ส่วนมาตรการระยะยาว จะเน้นการให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขยายตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

ส่วนข้อเสนอในการแก้ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่านั้น ส่วนใหญ่ทั้งนักวิชาการและผู้ประกอบการ SMEs ต่างเห็นว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งมองว่าการดูแลดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำข้อสรุปที่ได้จากการจัดเวิร์กชอปครั้งนี้นำเสนอนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลต่อไป

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยให้เงินบาทอ่อนค่า แต่หากไม่ลดดอกเบี้ยก็ควรมีมาตรการอื่นๆ ดูแลค่าเงินบาทตั้งแต่เบาไปหาหนัก เช่น การควบคุมการทำธุรกรรมการเงินสำหรับคนต่างชาติ เช่น ห้ามเกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือห้ามเกิน 100 ล้านเหรียญฯ, การกำหนดระยะเวลาถือครองตราสารหนี้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน, การเก็บค่าธรรมเนียม หรือเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายกับเงินที่เข้ามาลงทุนระยะสั้นในไทย เพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับเงินเก็งกำไร เป็นต้น

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องปรับตัว โดยต้องศึกษาต้นทุนของตัวเองให้ชัดเจน และต้องปรับแผนมาใช้วัตถุดิบนำเข้าหรือการนำเข้าเครื่องจักรมาเสริมการผลิต และลดต้นทุนค่าแรงงาน โดยต้องตระหนักว่าหมดยุคเงินบาทอ่อน ค่าแรงถูก และต้นทุนต่ำไปแล้ว

ส่วนการบริหารความเสี่ยงเงินบาท จะต้องทำซื้อประกันความเสี่ยงล่วงหน้า(ฟอร์เวิร์ด) ค่าเงินอย่างระมัดระวัง ต้องให้มีคำสั่งซื้อก่อน หรือเมื่อแน่ใจว่ามีแล้วจึงค่อยทำ ไม่เช่นนั้นจะเสียดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ