สอน.-เอกชน เห็นพ้องราคาน้ำตาลโลกปี 56/57 ฟื้นตัวหลังปีนี้ลงต่ำสุด, ผลผลิตเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 17, 2013 09:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงการน้ำตาลเผยราคาปีนี้ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 34 เดือน แตะ 16.95 เซนต์/ปอนด์ จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ตวามต้องการใช้ตึงตัว ซัพพลายล้นตลาดแต่คาดว่าปี 57 ราคาปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกเพราะดีมานด์โลกจะเพิ่มขึ้น 3-3.5 ล้านตัน/ปี

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้มีแนวโน้มลดลง โดยราคาตลาดล่วงหน้าปิดเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับส่งมอบเดือน ก.ค. 2556 อยู่ที่ 16.95 เซนต์/ปอนด์ ลดลงต่ำสุดในรอบ 34 เดือน ซึ่งปีที่แล้วราคาน้ำตาลเคยปิดที่สูงสุด 36 เซนต์/ปอนด์ แต่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ขายน้ำตาลล่วงหน้าของฤดูกาล 2556/2557 ไปเกือบหมดแล้ว จึงเชื่อว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง จะไม่กระทบกับราคาอ้อยในฤดูกาลปัจจุบัน

ในส่วนผลผลิตโลกถือว่าค่อนข้างล้นตลาดเพราะผู้ผลิตรายใหญ่ คือ บราซิลและไทย ต่างมีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของไทย อ้อยในฤดูกาลผลิต 2555/2556 มีสูงถึง 100.02 ล้านตัน มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกว่าผลผลิตจะอยู่ที่ราวๆ 94 ล้านตัน เนื่องจากมีชาวไร่อ้อยหน้าใหม่เพิ่มขึ้น มีชาวไร่ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนเพิ่มมาก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่เคยปลูกข้าว ยาง แต่เมื่อข้าวและยางมีปัญหาทั้งจากนโยบายของรัฐทำให้ราคาข้าวแข่งขันในตลาดส่งออกยาก ขณะที่ยางก็ความต้องการใช้ไม่แน่นอน ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาลมีอนาคตมากกว่าทั้งจากการบริโภคและใช้ผลิตพลังงานทดแทน

อีกทั้ง อ้อยยังเป็นพืชที่ปลูกได้ผลผลิตเท่าไหร่โรงงานจะรับซื้อไว้ทั้งหมด ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการระบายสินค้า ทำให้เกษตรกรนิยมหันมาปลูกอ้อยกันมากขึ้น

โดยพบว่าปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยมี 10 ล้านไร่ เป็นเกษตรกรหน้าใหม่ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนประมาณ 1 ล้านไร่

แต่เนื่องจากเป็นเกษตรกรหน้าใหม่จึงไม่มีความชำนาญในการปลูกจึงทำให้อ้อย 1 ตันผลิตน้ำตาลได้เฉลี่ย 100 กก. ลดลงจากฤดูกาลก่อนหน้านี้ที่ผลิตได้ 104 กก. นอกจากนี้ค่าความหวานเฉลี่ยก็ลดลงจากที่เคยอยู่ที่ 12 ซี.ซี.เอส. มาอยู่ที่ 11 ซี.ซี.เอส. ซึ่ง สอน.กำลังจะเข้าไปช่วยเหลือเก็บข้อมูลว่าทำไมผลิตน้ำตาลได้น้อยลง ทำไมค่าความหวานลดลง ซึ่งจะได้ปรับปรุงพันธุ์อ้อย ปุ๋ยและการดูแลอ้อยในไร่ อย่างไรก็ตาม สอน.คาดว่าฤดูการผลิตอ้อย 2556/2557 จะมีผลผลิตอ้อยมากกว่า 100 ล้านตัน โดยมีปัจจัยหนุนจากพื้นที่ปลูกอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 10 ล้านไร่ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวและข้าวโพดหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะมีระบบรับซื้ออ้อยชัดเจนและมีระบบประกันราคา และต่างจากผลผลิตประเภทอื่นที่ต้องผ่านระบบจำนำ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเตรียมที่จะทำสัญญาเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ภายใน พ.ค.นี้ วงเงิน 16,000 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลาคืนเงิน 17-18 เดือน เนื่องจากคุณภาพอ้อยที่ลดลงทำให้รายได้ของชาวไร่และอาจกระทบกับการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ในฤดูกาลผลิตหน้า โดยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อย 160 บาท/ตัน

ด้านนายโสภณ ถิระบัญชาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามบริท จำกัด ผู้ส่งออกน้ำตาลรายหนึ่ง กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี 2557 จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ 17-22 เซนต์/ปอนด์ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3-3.5 ล้านตัน/ปี โดยเฉพาะตลาดมีอนาคตอย่างเอเซียตะวันออกไกล คือ อาเซียน+ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยคาดว่าราคาจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 57 คาดว่าราคาจะอยู่ที่ราวๆ 17-19 เซนต์/ปอนด์,ไตรมาสที่ 2 จะอยู่ที่ราวๆ 18-20 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลที่มีเสถียรภาพคือ 18-24 เซนต์/ปอนด์

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามปัจจัยภายนอกคือ เศรษฐกิจโลก และนโยบายด้านเอทานอลของบราซิล เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบราซิลมีการก่อสร้างโรงงานเอทานอลจำนวนมาก ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพื่อการนี้อย่างมหาศาล ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าปีหน้าบราซิลจะยังมีทิศทางเรื่องเอทานอลต่อไปอย่างไรส่วนความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลของไทยไม่ค่อยมีเนื่องจากรัฐบาลยกเลิกน้ำมันเบนซิน 95 และหันมาใช้ 91 และแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

นายโสภณ กล่าวอีกว่า อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเงินบาทที่ระดับ 29 บาทปลายๆ เวลานี้ ถือว่าผู้ส่งออกพอรับได้ เพราะต้นทุนส่วนใหญ่คือรายจ่ายที่ต้องจ่ายให้เกษตรกร ซึ่ง้บานเราถือว่าต้นทุนในการผลิตอ้อยและน้ำตาลถือว่ายังค่อนข้างถูกกว่าต่างประเทศ ซึ่งบ้านเราเกษตรกรนิยมปลูกอ้อยกันมากเพราะรัฐบาลยังอุดหนุนราคาอ้อยขั้นที่ระดับ 950 บาท/กก. มีเงินช่วยเหลือจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลอีก 160 บาท/กก.ทำให้ราคารับซื้ออ้อยอยู่ที่ 1,110 บาท/กก.

"คาดว่าอีก 7 ปี ผลผลิตอ้อยของไทยอาจจะสูงถึง 150 ล้านตัน ทางรอดคือต้องหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น เอเชียตะวันออกไกล คือ อาเซียน+ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้จะอยู่ที่ราวๆ 15.3 ล้านตัน จากปัจจุบัน 8.5 ล้านตัน และไทยน่าจะส่งออกไปเอเชียตะวันออกไกลได้ราวๆ 11.5 ล้านตัน"นายโสภณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ