สศค.เผยโครงการรถคันแรกยังส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในเดือนเม.ย.56

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 17, 2013 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รายได้สุทธิของรัฐบาลในเดือนเมษายน 2556 จัดเก็บได้ 127,581 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,585 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีรถยนต์ และภาษีเงินได้นิติบุคคล สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกที่ยังคงส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 9,518 ล้านบาท หรือร้อยละ 77.1 จากการนำส่งเงินปันผลของ บมจ.ปตท. เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — เมษายน 2556) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,105,397 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 104,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าเป้าหมาย 67,081 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศและรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 41,854 ล้านบาท และ 15,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 71.4 และร้อยละ 26.7 ตามลำดับ

"จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ 2.1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลบ้างก็ตาม" นายสมชัย กล่าว

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 821,001 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 42,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 18,822 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.4) สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (2) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 7,806 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.9) สาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศสูงกว่าเป้าหมาย 14,260 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 จากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 6,454 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัว และ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,726 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.1) สืบเนื่องจากผลประกอบการของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว

กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 268,528 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 24,462 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.0) โดยภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 28,534 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 90.4) เป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ ขณะที่ภาษีเบียร์และภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,910 ล้านบาท และ 3,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 และร้อยละ 10.9 ตามลำดับ สืบเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ และสุราเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันและภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,312 และ4,786 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.1 และร้อยละ 13.0 ตามลำดับ

กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 67,605 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 455 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 421 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.8) เนื่องจากอัตราภาษีเฉลี่ยของสินค้าที่ชำระอากรมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — มีนาคม 2556) ขยายตัวได้ร้อยละ 12.3 และร้อยละ 10.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า

รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 72,623 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 15,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3) เนื่องจากธนาคารออมสินนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2555 สูงกว่าประมาณการ 3,793 ล้านบาท ประกอบกับการนำส่งเงินปันผลของ บมจ.ปตท. และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่เร็วกว่าที่ประมาณการไว้ จำนวน 11,679 ล้านบาท และ 2,870 ล้านบาท ตามลำดับ

หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 100,512 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 41,854 ล้านบาท หรือร้อยละ 71.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 65.4) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,175 ล้านบาท สาเหตุมาจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 788 ล้านบาท จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีรายได้พิเศษ ได้แก่ (1) รายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท (2) การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 8,227 ล้านบาท (3) การเหลื่อมนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2553 ของ กสทช. จำนวน 1,655 ล้านบาท (4) เงินชำระหนี้ค่าข้าวจากโครงการขายข้าวรัฐบาลรัสเซียจำนวน 1,118 ล้านบาท (5) เงินรับคืนจากโครงการจัดจ้างผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) ระยะที่ 1 จำนวน 913 ล้านบาท และ (6) การส่งคืนเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) จำนวน 616 ล้านบาท

ด้านการคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 174,906 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 18,542 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 141,231 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,430 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.0 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 33,675 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 888 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6

ส่วนการจัดสรรรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 9,218 ล้านบาท และ 8,363 ล้านบาท ตามลำดับ สูงกว่าประมาณการ 645 ล้านบาท และ 532 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ และ การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 4 งวด เป็นเงิน 32,385 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 85 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ