ก.เกษตรฯ เตรียมจับมือเอกชน หวังดันไทยเป็นตลาดกลางซื้อขาย,แนวโน้มราคาปรับสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 20, 2013 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 110 บาท/กก. ถือว่าเป็นราคาที่น่าพอใจ หากเทียบกับราคายางพาราของเดือนก่อน แต่กระทรวงเกษตรฯ จะยังคงเดินหน้าร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพ เพื่อให้เอกชนนั้นเข้ามาส่วนร่วมในการส่งเสริมศักยภาพยางพาราของไทยให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดจะให้มีการประชุมหน่วยราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 นี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงแนวโน้มราคายาง และเจรจาเรื่องทิศทางยางพาราในอนาคต และที่สำคัญคือการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายยางพาราเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก โดยมีการส่งออกยางพาราต่อปี กว่า 400,000 ล้านตัน ทั้งๆที่ประเทศไทยมีตลาดกลางอยู่หลายแห่ง แต่ที่ผ่านมานั้นทางภาครัฐไม่ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเท่าที่ควร

โดยเฉพาะแนวทางในการใช้กลไกลตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ที่จะทำให้ราคายางพารามีความยั่งยืน เนื่องจากที่ตลาดล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ของประเทศญี่ปุ่นนั้นมียางอยู่สต๊อก ประมาณ 14,000 ตัน แต่ปัจจุบันตลาด (TOCOM) กลับเป็นผู้กำหนดราคายาง และเป็นสถานที่รับซื้อยางจากทั่วโลกทั้งที่มียางอยู่สต๊อกน้อยมาก ดังนั้น หากไทยได้เป็นผู้นำการรับซื้อยางเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและคุณภาพยางพารามากขึ้น และมีการพัฒนาน้ำยางต่อไป

สำหรับแนวโน้มราคายางในอนาคต จากการวิเคราะห์จากสมาคมยางพาราแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆตามกลไกลราคาตลาดโลกซึ่งเป็นช่วงที่ยางพาราขาดตลาด และยางอยู่ในช่วงผลิใบและฝนตกชุกมาก เกษตรกรไม่สามารถออกกรีดยางได้ อีกทั้งยังมีรายการสั่งซื้อจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก แต่ช่วงระยะเวลาสั้นๆคาดว่าราคายางจะแตะที่ 95-100 บาท/กก.

ส่วนโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางที่ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งระยะเวลาเพียง 5 เดือนที่ดำเนินโครงการพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาและสามารถผ่านช่วงวิกฤติราคายางตกต่ำที่เกิดขึ้นได้ โดยใช้เงินรัฐบาลจำนวน 5,000 ล้านบาทในการเข้าไปสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และเชื่อมั่นว่าตลอดระยะเวลานั้นไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด มีความโปร่งใสในการทำงาน โดยได้มอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทำการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน และทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ทำการเบิกจ่ายเงินแก่เกษตรกรให้รวดเร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ