เงินบาทปิดตลาด 29.79/81 อ่อนค่าเล็กน้อย รอถ้อยแถลงประธานเฟดคืนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2013 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 29.79/81 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 29.77/79 บาท/ดอลลาร์ โดยเคลื่อนไหวตามภูมิภาค ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ระดับ 29.76 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 29.82 บาท/ดอลลาร์
"เงินบาทปิดตลาดใกล้เคียงกับช่วงเช้า ระหว่างวันแกว่งตัวในกรอบแคบๆ นักลงทุนรอผลประชุมเฟดคืนนี้และบีโอเจสัปดาห์หน้า" นักบริหารเงิน กล่าว

ทั้งนี้ นักลงทุนรอผลประชุมของ FOMC คืนนี้เกี่ยวกับมาตรการ QE ว่าจะตัดสินใจไปในแนวทางใด รวมถึงการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ในสัปดาห์หน้า และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้

นักบริหารเงิน มองทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เช่นเดิม

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.83/85 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 102.58/60 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2936/2939 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.2921/2923 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,631.27 จุด ลดลง 12.16 จุด, -0.74% โดยมีมูลค่าซื้อขาย 73,247.37 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 3,238.57 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมแห่งหนึ่งที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีว่า เฟดควรจะเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไปเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
  • นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวที่สมาคมญี่ปุ่นในเมืองแมนแฮตตัน ว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกในปัจจุบันของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งได้ส่งผลให้เงินเยนร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆนั้น ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพจนถึงขณะนี้
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ตัดสินใจคงนโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงรุกในปัจจุบันต่อไปเพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืด ขณะที่การบริโภคและการส่งออกของประเทศได้เริ่มฟื้นตัว ท่ามกลางเยนที่อ่อนค่าและราคาหุ้นที่พุ่งขึ้น
  • แกลลัพโพล ระบุชาวอเมริกันแสดงความมั่นใจในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สูงสุดนับตั้งแต่แกลลัพเริ่มทำโพลล์ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจรายวันในปี 2551 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของแกลลัพทะยานขึ้นสู่ระดับ -5 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ -11 เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งมากกว่าระดับสูงสุดล่าสุดที่ -8 ในช่วงสองสัปดาห์ก่อน เนื่องจากราคาสต็อกสินค้าของสหรัฐฯ แตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย.ลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค.2551
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ(ONS) เผยราคาบ้านในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว และยังปรับตัวสูงขึ้น 0.4% จากเดือนก่อนหน้า
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) เดือน ก.ค.ร่วงลง 67 เซนต์ แตะที่ 95.51 ดอลลาร์/บาร์เรล ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่เอเชียในวันนี้ หลังจากการปิโตรเลียมสหรัฐ(API) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนด้านพลังงานของสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค.เพิ่มขึ้น 532,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 459,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 3 ล้านบาร์เรล
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เผยประเทศผู้ส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA) เสี่ยงต่อการขาดดุลการคลังตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป โดยคาดว่าการขยายตัวของ GDP จะลดลงสู่ระดับ 3% ในปี 2556 เนื่องจากความต้องการน้ำมันโลกลงชะลอตัว และการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง
  • กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออก-นำเข้า เดือนเม.ย.พรุ่งนี้ (23 พ.ค.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ