เศรษฐศาสตร์โพลล์คาด กนง.นัดนี้ลดดอกเบี้ย 0.25% เชื่อมั่นบทบาท"ประสาร"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 09:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "ผู้ว่าฯ ธปท. ดอกเบี้ย และรมว.คลังกับปัญหาค่าบาทแข็ง" ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 29 พ.ค.นี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.5 คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาเหลือร้อยละ 2.50 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 38.5 คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ 2.75

เมื่อถามว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันถึงเวลาหรือยังที่ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเด็นค่าเงินบาท พบว่านักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46.2 เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา โดยให้เหตุผลว่าอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ต้นตอของปัญหา อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือดูแลค่าเงินบาทที่มีประสิทธิภาพ หากแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 29.2 เห็นว่าถึงเวลาแล้ว เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งเพราะดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้เงินไหลเข้าประเทศทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มชะลอตัว นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 49.2 ยังเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.0 เป็นการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่ไม่ถูกทาง ขณะที่ร้อยละ 18.5 เห็นว่าถูกทางแล้ว

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 55.4 เห็นว่า กนง.ควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยควรให้ความสำคัญกับภาวะเงินเฟ้อมากกว่าค่าเงินบาท ขณะที่ร้อยละ 18.5 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับค่าเงินบาทมากกว่า

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ถึงร้อยละ 73.8 เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จำเป็นต้องสอดประสานกับนโยบายการคลังของกระทรวงการคลัง โดยมีเพียงร้อยละ 10.8 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอดประสานกัน

เมื่อถามว่ามีความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใดต่อการทำหน้าที่ ผู้ว่าฯ ธปท.ของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล โดยเฉพาะการเตรียมมาตรการรองรับค่าเงินบาทแข็ง พบว่านักเศรษฐศาสตร์ถึงร้อยละ 80.0 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด แต่มีเพียงร้อยละ 13.8 ที่เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย

ส่วนสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการบอก ผู้ว่าฯ ธปท. และ รมว.คลัง เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้น มีดังนี้ 1.หันหน้าเข้าหากัน เปิดใจรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกัน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง 2.เข้าใจอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายไม่ก้าวก่ายอำนาจกัน ไว้ใจและเชื่อมั่นกันแล้วแก้ไขปัญหาตามอำนาจที่มีโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ 3.อย่าใช้ทิฐิ ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดภายใต้ข้อมูลและประสบการณ์ที่มี ใช้สื่อให้น้อยลงเพื่อไม่ให้มีข่าวหลุดออกไปเพราะจะดูไม่ดีในตลาด และประสิทธิภาพของเครื่องมือจะลดลง

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 35 แห่ง จำนวน 65 คน และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลตั้งแต่ 16-22 พฤษภาคม 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ