(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.56 หดตัว 3.84% yoy

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2013 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีอุตสาหกรรมผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.56 อยู่ที่ 159.16 หดตัว 3.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว 18.69% หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.56) ดัชนี MPI ของไทย ขยายตัว 1.49%

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนเม.ย.56 อยู่ที่ 60.28% ส่วน 4 เดือนแรกอยู่ที่ 65.23%

สาเหตุที่ดัชนี MPI เดือน เม.ย.56 ลดลงมาก เป็นเพราะเดือนเม.ย. มีวันหยุดมาก และ มีการชะลอการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับมาตรการป้องกันไฟฟ้าดับ อันเนื่องมาจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงจ่ายก๊าซธรรมชาติของเมียนมาร์ ช่วงวันที่ 5-14 เม.ย. ขณะที่ผู้ผลิตบางรายก็ตัดสินใจหยุดผลิตเพื่อให้ลูกจ้างได้หยุดพักกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนี MPI รวม เช่น รถยนต์ เบียร์ เม็ดพลาสติก เครื่องดื่มไม่แอลกอฮอล์ ปูนซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านลบต่อดัชนี MPI รวม เช่น HDD อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น

นายสมชาย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ ยังขยายตัว 17.53% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผู้ผลิตได้ขยายกำลังการผลิตในปีก่อนหน้า จึงทำให้ผลิตรถยนต์ได้มากขึ้น เพื่อเร่งส่งมอบให้กับผู้จองรถยนต์ในโครงการ รถคันแรกเป็นหลัก

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภาพรวมเดือน พ.ค อยู่ที่ 47.99%

ส่วนแนวโน้มมิ.ย.-ก.ค.56 ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยปัจจัยที่เสี่ยงที่ภาคการผลิตยังกังวลคือ ดีมานด์จากต่างประเทศยังหดตัวที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ยุโรป เพราะปัญหาเศรษฐกิจภายในยังไม่จบและคาดว่าจะลากยาวไปเรื่อยๆ, สหรัฐอเมริกา ต้องจับตาดูแผนการลดการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 10% ของการส่งออกไทย นอกจากนี้ต้องดูแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศไทยว่า รัฐบาลมีแผนกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างไร และมากน้อยแค่ไหน

ส่วนปัญหาค่าเงินบาทในขณะนี้รวมทั้งการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ ภาคการผลิตมองว่า หาก กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ย จะมีผลทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง การลงทุนอาจจะมากขึ้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เกรงว่าอาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

"เชื่อว่า กนง.คงมีคำตอบในใจแล้ว แต่ดูเหมือนในภาพรวมหลายฝ่ายจะตัดสินใจแทน กนง.เรียบร้อยแล้ว แต่ในมุมมองของภาคการผลิตให้ความสำคัญกับความมีเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า เพื่อจะได้วางแผนการผลิตและการส่งออกได้ถูก"นายสมชาย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ