สภาพัฒน์มองแนวโน้มบาทแข็งค่าช่วงที่เหลือปีนี้,หลายปท.ลดดบ.ดูแลค่าเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2013 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงข่าวภายหลังนำเสนอกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2556 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบว่า จากเหตุการณ์การดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐฯ การทำ QE ของญี่ปุ่น และยุโรป ส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาสู่ภูมิภาครวมทั้งประเทศไทย และการประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยไตรมาส 1/56 ขยายตัว 5.3% ในแง่เทียบกับไตรมาส 4/55 ติดลบ 2.2% จากทั้ง 2 ประเด็นทำให้ต้องวางกรอบแนวทางการทำงานเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

เลขาธิการ สภาพัฒน์ มองว่า ทิศทางเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงที่เหลือปีนี้ เนื่องจากคาดว่าหลายประเทศยักษ์ใหญ่ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปน่าจะยังดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะสหรัฐฯ เชื่อว่าจะทำ QE ต่อเนื่อง ยังไม่มีข้อยุติว่าจะชะลอหรือยุติเร็วกว่ากำหนด ซึ่งประมาณการว่าหากดำเนินการแบบนี้ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีปริมาณเงินที่จะตีพิมพ์ในสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป เบ็ดเสร็จจะอยู่ที่ประมาณ 5.86 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ปริมาณเงินอยู่ที่ 1.85 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณเงินส่วนหนึ่งคงจะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี รวมถึงไหลเข้ามาในประเทศที่ยังมีช่องว่างในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย

"เชื่อว่าเงินดอลลาร์จะยังอ่อนค่าและเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงไตรมาสที่ 2, 3, 4 ต่อไป โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา อัตราเงินทุนไหลเข้ามายังสูงกว่าเกณฑ์ปกติ เกณฑ์เฉลี่ยตั้งแต่ปี 52 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิเข้ามาประเทศอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส แต่ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา คือ ไตรมาส 3 ปี 55 ไตรมาส 4 ปี 55 และ ไตรมาส 1 ปี 56 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ไปสู่ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากผลตอบแทนดี"นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้สรุปข้อมูลต่าง ๆ ให้ ครม.รับทราบว่าการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม มีการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อ 2 จุดประสงค์ คือ เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าที่เกินความจำเป็นและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดประเทศออสเตรเลียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้วเช่นกัน

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจดีเป็นที่ดึงดูดใจนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน ขณะที่หนี้สาธารณะและเสถียรภาพเงินเฟ้อก็ยังอยู๋ในอัตราที่น่าพอใจ อัตราการว่างงานต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง รวมทั้ง BIS Ratio ของสถาบันการเงินอยู่ในระดับสูง มีความมั่นคงมากพอสมควร อีกทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ภาคโทรคมนาคมในไตรมาส 1/56 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ถือเป็นศักยภาพของไทยที่ทำให้ยังมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง

ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 5 ด้าน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้าสกว่าความคาดหวังและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจอีก , การแก้ไขปัญหาด้านการพิมพ์เงินของประเทศมหาอำนาจทำให้สงครามอัตราแลกเปลี่ยนยังคงดำเนินต่อไปและส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย , ค่าเงินที่แข็งขึ้นและผันผวนส่งผลกระทบต่อรายบได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ, แรงขับเคลื่อนจากมาตรการสร้างรายได้ ลดรายได้จ่าย ขยายโอกาส ในปีแรกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่อาจจะมีความล่าชากว่ากำหนดการ

และ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องดูแลให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยระมัดระวังไม่ให้เป็นการเก็งกำไรจนเกิดฟองสบู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ