เงินบาทปิด 30.93/95 ทรงตัวจากช่วงเช้า หลังไม่ผ่านแนวต้าน 31.20

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 12, 2013 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดนี้อยู่ที่ระดับ 30.93/95 บาท/ดอลลาร์ เท่ากับช่วงเช้า แต่ไม่สามารถยืนเหนือระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ได้เนื่องจากไม่สามารถผ่านแนวต้าน 31.20 บาท/ดอลลาร์
"เงินบาทขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดที่ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์ เมื่อช่วงบ่ายก่อนจะมีแรงทำกำไรออกมาหลังไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ระดับ 31.20 บาท/ดอลลาร์ไปได้ ไม่มีข่าวที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่าลงมานอกจากปัจจัยทางเทคนิค" นักบริหารเงิน กล่าว

เมื่อเวลา 09.00 น. เงินบาทได้อ่อนค่าไปแตะระดับ 31.03/05 บาท/ดอลลาร์แล้ว ซึ่งถือว่าอ่อนค่าสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่ต.ค.55

นักบริหารเงิน คาดว่าวันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.90-31.20 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ช่วงเย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 96.48/57 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่อยู่ที่ระดับ 96.53/54 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3292/3293 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.3312/3313 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,433.47 จุด ลดลง 19.16 จุด, -1.32% มูลค่าการซื้อขาย 66,506 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 5,844.08 ลบ.(SET+MAI)
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงสรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์เดือน พ.ค.56 ถึงการซื้อขายแยกตามกลุ่มผู้ลงทุนว่า ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ใน SET และ mai รวม 5,115 ล้านบาท และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิรวม 21,038 ล้านบาท
  • นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง แนะจับตาตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังเงินไหลออก พร้อมระบุว่าหากเงินยังไหลออกเรื่อยๆ บาทจะอ่อน และโอกาสที่กรรมการนโยบายการเงินจะปรับดอกเบี้ยให้ลดลงไปอีกหรือไม่นั้น คงจะมีน้อย และทั้งนี้เมื่อใดที่บาทที่อ่อนเริ่มมีผลดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยแทนที่จะเป็นขาลงหรือทรง จะกลับเป็นขาขึ้น
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ล่าสุด โดยกรรมการ กนง.บางคนเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอยู่ สืบเนื่องมาจากปัจจัยของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ ขณะที่กรรมการฯ บางคนมีความเห็นเพิ่มเติมว่าภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย กนง.อาจสามารถพิจารณาดำเนินมาตรการหรือนโยบายอื่นๆ เช่น มาตรการด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ มาตรการด้าน Macro-prudential ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย โดยจะเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อสถานการณ์
  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มยูโรโซนในเดือนเม.ย.ขยายตัว 0.4% จากระดับเดือนมี.ค. นำโดยการผลิตภาคอุตสาหกรมของฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่ว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนเริ่มที่จะฟื้นตัวจากภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อ

ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนีขยายตัว 1.2% ในเดือนเม.ย. ส่วนผลผลิตของฝรั่งเศสดีดตัวขึ้น 2.3% แต่การผลิตของอิตาลีและสเปนอ่อนตัวลง

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของยูโรโซนในไตรมาสแรก ร่วงลง 0.2% ซึ่งถดถอยติดต่อกัน 6 ไตรมาส

ทางด้านมาร์กิตเปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนในเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้นแตะ 47.7 จาก 46.9 ในเดือนเม.ย. แต่ดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจในภูมิภาคยังอยู่ในภาวะหดตัว

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของอังกฤษในเดือนพ.ค.ลดลง 8,600 คน ซึ่งทำให้มีจำนวนผู้ว่างงาน 1.51 ล้านคน ขณะที่อัตราว่างงานทรงตัวที่ 4.5%
  • ธนาคารกลางฝรั่งเศสรายงานยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 2.8 พันล้านยูโร ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ ยอดขาดดุลการค้าอยู่ที่ 4.5 พันล้านยูโร จาก 4.6 พันล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคบริการมียอดเกินดุลการค้าลดลงแตะ 2.7 พันล้านยูโร จาก 2.9 พันล้านยูโรในเดือนมี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ