(เพิ่มเติม) นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยยังไม่เข้าสู่หน้าผาการคลัง แต่มีปัจจัยเสี่ยงฉุดดิ่งเหว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 15, 2013 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "สุมหัวคิด...fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย" โดยมองว่า แม้ปัจจุบันหากพิจารณาจากตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศในขณะนี้แล้ว จะยังไม่มีความน่าเป็นห่วงว่าไทยต้องเผชิญกับภาวะหน้าผาการคลังก็ตาม แต่ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงจาก 5 ปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินเข้าสู่ภาวะหน้าผาทางการคลังได้อย่างไม่รู้ตัว

ปัจจัยแรก ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักประชานิยม ซึ่งในช่วงหลังจะพบว่าพรรคการเมืองใช้นโยบายหาเสียงเลือกตั้งโดยเน้นประชานิยมเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นการเสนอสวัสดิการให้เกินความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นนโยบายแบบปลายเปิดที่ยากจะประเมินความเสียหายในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรก หรือนโยบายจำนำข้าว เป็นต้น

อีกทั้งนโยบายประชานิยมเหล่านี้ยังเป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายประจำของงบประมาณในแต่ละปีให้เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องไปลดทอนงบรายจ่ายในส่วนที่จำเป็นลง โดยเฉพาะงบรายจ่ายเพื่อการลงทุน และนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้เม็ดเงินนอกงบประมาณด้วยการกู้เงินมาใช้เพื่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท

ปัจจัยที่สอง ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยและประเทศไทยที่หากเทียบกับประเทศในอาเซียนแล้ว จะพบว่าภาคธุรกิจไทยมีความสามารถทางการแข่งขันลดลงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งเมื่อภาคธุรกิจมีความสามารถทางการแข่งขันลดลง ย่อมจะมีผลต่อการทำรายได้ของธุรกิจและมีผลมาถึงการจ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐด้วย

ปัจจัยที่สาม การเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุ ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยปัจจุบันมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 25% ในอีก 17 ปีข้างหน้า ซึ่งการเป็นสังคมผู้สูงอายุจะทำให้ภาครัฐมีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการออมของภาคครัวเรือนที่จะต้องนำเงินไปใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยมากขึ้น ทำให้ลดปริมาณเงินออม และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็จะลดลงตามไปด้วย

ปัจจัยที่สี่ ประสิทธิภาพของผู้นำทางประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารประเทศ ตลอดจนนักการเมือง และข้าราชการที่ควรต้องมีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัสน์สามารถมองอนาคตและวางแผนประเทศในระยะไกล กล้าที่จะสื่อสารออกไปได้หากเห็นการใช้นโยบายที่ไม่ถูกต้อง หรือส่อว่าจะมีการทุจริตคอรัปชั่น แต่จากปัจจุบันบทบาทของข้าราชการถูกลดทอนลง มีการเข้ามาแทรกแซงจากภาคการเมือง รวมทั้งแนวทางที่ใช้สำหรับการดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศยังเป็นเพียงแค่การมองในระยะสั้นๆ โดยเป็นเพียงการให้ความสำคัญกับมาตรการเศรษฐกิจมากกว่านโยบายเศรษฐกิจ

ปัจจัยที่ห้า การสร้างภูมิคุ้มกันหรือการบริหารความเสี่ยง โดยในท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ไว้หลายแนวทางเลือก ซึ่งเป็นการเผื่อไว้หากเกิดปรากฎการณ์ลูกโซ่ที่อาจจะมีผลกระทบจาก senario หนึ่งไปยังอีก senario หนึ่ง แต่ขณะนี้พบว่ายังไม่ค่อยมีการดำเนินการในลักษณะนี้มากนัก

"ถ้าดูจากหนี้สาธารณะตอนนี้ไม่น่ากลัว เรายังไม่มีปัญหาหน้าผาการคลัง แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวที่ทำให้อนาคตเราอาจเดินลงจากเขาไปเรื่อยๆ และลงไปสู่เหวโดยไม่รู้ตัว" นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในมาตรการหรือโครงการปลายเปิดที่มองไม่เห็นความชัดเจนของผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่จะได้กลับมาในอนาคต แต่กลับเป็นโครงการที่สร้างภาระทางการคลังในอนาคต รวมไปถึงโครงการรถคันแรกด้วยเช่นกัน ซึ่งยิ่งนานไปจะทำให้ประชาชนเสพติดโครงการประชานิยมเหล่านี้ และเป็นการยากหากรัฐบาลคิดจะยกเลิกโครงการดังกล่าว ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลควรยกเลิกโครงการในลักษณะที่จะสร้างภาระการคลังในอนาคต เพราะเชื่อว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวของประเทศ

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในระดับปัจจุบันที่ 4-4.5% ถือว่ายังพอไปได้ และเห็นด้วยกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ เพราะจะเป็นเพียงแค่การกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชนในปัจจุบัน แต่จะกระทบกับการบริโภคในอนาคตให้ลดลง และจะยิ่งสร้างภาระหนี้ครัวเรือนในเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือการมองในระยะยาวด้วยการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจโดยรวม การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ การเร่งลงทุนในระบบโลจิสติกส์ และการปฏิรูปศักยภาพแรงงานไทย

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 44.2 ต่อ GDP ถือว่าเป็นตัวเลขที่สามารถบริหารจัดการได้และยังไม่น่ากังวล แต่สิ่งที่มีความน่าเป็นห่วงคือ ภาระหนี้จากการใช้เงินนอกงบประมาณที่พบว่าเริ่มมีมากขึ้น เช่น การกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว, การลงทุนร่วมกับรัฐวิสาหกิจ, หนี้ที่เกิดจากการกู้เงินขององค์กรท้องถิ่น ตลอดจนกองทุนนอกงบประมาณ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, กองทุนหมู่บ้าน และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นภาระผูกพันในระยะยาวและเป็นความเสี่ยงในอนาคตที่ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้แบกรับภาระไป นอกจากนี้ ยังมีภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น กองทุนประกันสังคม ที่มีการคาดการณ์กันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า กองทุนนี้จะประสบภาวะขาดทุน และในอีก 30 ปีข้างหน้ากองทุนจะติดลบ รวมทั้งภาระหนี้ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้จากความไม่มีเสถียรภาพของสถาบันการเงิน

ดังนั้นแนวทางที่ควรจะต้องดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไม่เดินไปสู่ภาวะหน้าผาการคลัง คือการรักษากรอบและวินัยในการกู้เงินอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังการออกโครงการต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่าผลชัดเจนที่จะเกิดในอนาคตเป็นอย่างไร เช่น โครงการรับจำนำข้าว

"โครงการจำนำข้าว ถือเป็นภาระปลายเปิดที่ต้องระมัดระวัง ถ้าทำไปอีก 2-3 ฤดูกาลเราไม่รู้ผลที่จะเกิดขึ้นเลย มันต้องมีโครงการมาเปรียบเทียบ ดังนั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงทางการคลัง เพราะไม่รู้ต้นทุนจริง และไม่ถูกต้องในแง่วินัยการคลัง" นายพิพัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาการใช้เงินลงทุนในโครงการใดโครงการหนึ่งว่าจะต้องสร้างความคุ้มค่าให้เกิดขึ้นจริง และมีผลตอบแทนในอนาคต หรือช่วยสร้าง GDP ในอนาคตได้ ขณะเดียวกันในแต่ละโครงการจะต้องมีความโปร่งใสทางการคลัง มีองค์กรที่สามารถ check balance ได้ และต้องเป็นโครงการที่ให้สาธารณะชนได้เข้ามาตรวจสอบได้ เพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมี.ค.56 อยู่ที่ 5,121 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.2 ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่ายังมีความมั่นคง นอกจากนี้โครงสร้างเงินกู้ของหนี้สาธารณะไทยส่วนใหญ่ 97% เป็นหนี้ระยะยาว และเป็นหนี้สกุลเงินบาทดังนั้นจึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาระอัตราแลกเปลี่ยน

โดย สศค.คาดว่าภายในช่วง 7 ปีจากนี้(57-63) สัดส่วนหนี้สาธาระต่อจีดีพีของไทยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 59 โดยอยู่ที่ร้อยละ 50 ต่อจีดีพี และจากนั้นจะเริ่มลดลง โดยในปี 60 อยู่ที่ร้อยละ 49.8 ต่อจีดีพี, ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 49.2 ต่อจีดีพี, ปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 47.6 ต่อจีดีพี และปี 63 อยู่ที่ร้อยละ 45.7 ต่อจีดีพี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวได้คิดรวมการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐไว้แล้ว ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ