(เพิ่มเติม) กนง.มีมติ 6: 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ตามตลาดคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2013 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยให้น้ำหนักกับการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน และเห็นว่าระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง.แถลงว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังมีความจำเป็นและเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว ภายใต้ภาวะที่แรงกดดันด้านราคายังไม่น่ากังวล ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินและความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งฐานะการเงินของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนชะลอลงในไตรมาสที่ 2 แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่ามีสัญญาณปรับดีขึ้น เศรษฐกิจกลุ่มยูโรมีเสถียรภาพมากขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อาจต้องใช้เวลา เนื่องจากฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอ่อนแอ สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย อุปสงค์ภายในประเทศชะลอลงแม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกในบางประเทศ แต่การส่งออกโดยรวมยังคงอ่อนแอ

เศรษฐกิจไทยชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และกลุ่มสินค้าคงทน จากผลของมาตรการรถคันแรกที่ทยอยหมดลงและการสะสมหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมทั้งการส่งออกที่ชะลอลงสอดคล้องกับเศรษฐกิจในภูมิภาค มองไปข้างหน้าอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกคาดว่าจะทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป ในขณะที่ข้อจำกัดด้านอุปทานอาจมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ต่ำลง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้และภาวะการเงินที่ผ่อนปรนน่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยสินเชื่อภาคเอกชนแม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังขยายตัวในอัตราสูง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ