เงินบาทปิด 32.15/17 อ่อนค่าจากช่วงเช้า คาดกรอบสัปดาห์หน้า 31.95-32.30

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2013 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน ระบุว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.15/17 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.02/04 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.03 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 32.16 บาท/ดอลลาร์
"วันนี้บาทค่อนข้างเหวี่ยง ช่วงเช้าไปทำ low ที่ 32.03 ก่อนจะเด้งขึ้นมาในช่วงบ่าย โดย high สุดวันนี้ที่ 32.16 ช่วงเช้าเป็นช่วงกลับ trend หลังจากที่สกุลในเอเชียกลับมาแข็งค่าจากปัญหาซีเรียที่เริ่มคลี่คลาย ดอลลาร์สหรัฐก็แข็งค่าขึ้นมาเยอะ มีการ take profit ตอนเช้าเป็น offshore ขายออกมาก่อน ตอนบ่ายก็เริ่มกลับมาถือดอลลาร์" นักบริหารเงิน กล่าว

ส่วนสัปดาห์หน้ามีปัจจัยที่ยังต้องติดตามต่อ คือสถานการณ์ในซีเรีย หลังจากเมื่อวานนี้สภาอังกฤษลงมติคัดค้านการใช้ปฏิบัติการทหารในซีเรีย นอกจากนั้นเป็นการติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำเดือน เช่น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนส.ค.

นักบริหารเงิน คาดว่า ตลอดทั้งสัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.95-32.30 บาท/ดอลลาร์

ส่วน THAI BAHT SPOT RATE FIXING วันที่ 30 ส.ค.อยู่ที่ระดับ 32.1400 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 98.21/23 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าเปิดที่ระดับ 98.15 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3236/3237 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าเปิดที่ระดับ 1.3250 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,294.30 จุด เพิ่มขึ้น 1.77 จุด, +0.14%
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 43.83 ลบ.(SET+MAI)
  • ผลการหารือระหว่างเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เกี่ยวกับภาวะตลาดหุ้นของไทย เห็นว่าภาวะตลาดที่ผันผวนในขณะนี้เป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่ทำให้มีเงินทุนไหลออก และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อภาวะการเงินของโลกกลับสู่ปกติก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะปัจจัยพื้นฐานมีความแข็งแกร่ง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค.56 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย. ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงจากการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่น ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบางและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบของไทย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตาม แต่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น อัตราเงินเฟ้อชะลอลง, อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ, ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการนำเข้าทองคำและการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศเป็นสำคัญ, ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงิน และดุลการชำระเงินขาดดุล

  • สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ระบุว่า ดัชนีราคาการส่งออกเดือนก.ค.56 ปรับลดลงเหลือ 0.6% จากเดือนก่อนหน้าที่ 0.9% โดยมีมูลค่า 19,064 ล้านเหรียญ สรอ. หรือ 584,273 ล้านบาท ลดลง 3.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหากมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยใน 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยังคงอยู่ในช่วง 19,800-20,000 ล้านเหรียญ สรอ./เดือน การส่งออกของไทยจะเติบโตเพียง 0.93 -1.37%

  • สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมไทยในครึ่งปีหลังปี 2556 ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น, ปัจจัยเสี่ยงด้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ปัจจัยเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น, ปัจจัยเสี่ยงด้านการแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรง, ปัจจัยเสี่ยงด้านปัญหาขาดแคลนแรงงาน และ ปัจจัยเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงิน
  • บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เผยภาคธนาคารของสหรัฐมีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.42 หมื่นล้านดอลลาร์ในงวดระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย.56 โดยธุรกิจธนาคารของสหรัฐมีกำไรเพิ่มขึ้น 7.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 22.6% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำสถิติเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 16 ติดต่อกันเมื่อเทียบเป็นรายปี
  • ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดทรงตัววันนี้ โดยดัชนี Stoxx 600 บวก 0.1% แตะ 300.51 จุด เมื่อเวลา 08.07 น. ตามเวลาลอนดอน ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของยูโรโซนในวันนี้
  • สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป(ยูโรสแตท) เผยจำนวนผู้ว่างงานในยูโรโซนที่มีสมาชิก 17 ประเทศ ลดลงมาอยู่ที่ 19.23 ล้านคนในเดือนก.ค.จาก 19.27 ล้านคนในเดือนมิ.ย. นับเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันตั้งแต่เม.ย.56 ที่จำนวนผู้ว่างงานในยูโรโซนปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัว ส่วนอัตราว่างงานยังทรงตัวที่ 12.1%
  • ยูโรสแตท เผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ของยูโรโซนในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 1.3% จากระดับ 1.6% ในเดือนก.ค. ซึ่งเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงนั้นเป็นเพราะราคาพลังงานที่ปรับตัวลง
  • คณะกรรมาธิการยุโรป เผยความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจของ 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรปรับตัวขึ้นแตะ 95.2 ในเดือนส.ค. จากระดับ 92.5 ในเดือนก.ค. ความเชื่อมั่นในเดือนส.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และเป็นการปรับตัวขึ้นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากที่เศรษฐกิจของยูโรโซนสามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 18 เดือนได้
  • สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น เผยยอดการผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นปรับตัวลง 1.5% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 910,114 คัน ลดลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ส่วนยอดส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นลดลง 1.0% แตะที่ 413,920 คัน ทำสถิติลดลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ